กอปภ.ก. ประสาน 6 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือ ฝนตกหนักเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 8 – 10 ก.ย. 64

กอปภ.ก. ประสาน 6 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือ ฝนตกหนักเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 8 – 10 ก.ย. 64

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 8 – 10 ก.ย. 64 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัย
อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (26/2564) ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
กอปภ.ก.โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 6 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวัง
น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 8 – 10 กันยายน 2564 แยกเป็น

สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อำเภอละอุ่น และอำเภอกะเปอร์)
พังงา (อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี) ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกระทู้ และอำเภอถลาง)
กระบี่ (อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา และอำเภอลำทับ)
ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอปะเหลี่ยน อำเภอวังวิเศษ)
สตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอละงู อำเภอมะนัง และอำเภอทุ่งหว้า)

สถานการณ์คลื่นลมแรง 6 จังหวัด ได้แก่
ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ และอำเภอสุขสำราญ)
พังงา (อำเภอเกาะยาว อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอคุระบุรี และอำเภอท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกระทู้ และอำเภอถลาง) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภออ่าวลึก อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม อำเภอเกาะลันตา) ตรัง (อำเภอกันตัง อำเภอสิเกา อำเภอปะเหลี่ยน และอำเภอหาดสำราญ)
สตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอละงู อำเภอมะนัง และอำเภอทุ่งหว้า)

รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าวโดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และจิตอาสาเตรียมพร้อมทรัพยากรให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง
โดยใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม อีกทั้งสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคม
ออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าว ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปิดสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก
ถ้ำลอด สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเพิ่ม
การติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนภัยบริเวณชายฝั่งทะเล ห้ามการลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลในช่วงที่คลื่นลมแรง กรณีการเดินเรือให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือเป็นพิเศษ นำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรง

ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสาน ให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น