โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่าไวรัสเดงกี่ (dengue) หรือไวรัสไข้เลือดออก โดยทั่วไปจะเจอที่ประเทศแถบเขตร้อนชื้นหรือประเทศแถบที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีฝนตกตลอดทั้งปี รวมทั้งประเทศไทย เพราะว่ายุงลายที่เป็นพาหะนำโรคนี้สามารถที่จะวางไข่แล้วแพร่พันธุ์ได้ดีในช่วงฤดูฝน

จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปีที่ผ่านมา (พศ. 2563 ) พบผู้ป่วยที่ยืนยันว่าเป็นโรคไข้เลือดออกมีประมาณ 72,000 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 52 ราย ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าไว้

ปัจจุบันไวรัสเดงกี่ที่พบแล้วมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์ที่ 1, 2 ,3 และ 4  ถ้าผู้ป่วยรายใดที่ติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต สำหรับพาหะนำโรคคือยุงลาย ซึ่งยุงลายที่สามารถนำโรคไข้เลือดออกได้ในประเทศไทยจะมี 2 ชนิดหลักๆ คือ ยุงลายบ้านและยุงลายสวนโดยปกติแล้ว ยุงจะยังไม่ได้มีเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่เมื่อยุงนั้นไปกัดคนที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกพอดี ยุงนั้นก็จะได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกายของยุง เมื่อยุงบินไปกัดคนอีกคน จะปล่อยเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าไป ทำให้โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค

ระยะฟักตัวของโรคไข้เลือดออกจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นอาการของผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเรียกว่าระยะไข้ โดยมีไข้สูงลอย ไข้จากโรคไข้เลือดออกอาจจะสูงได้ถึง 39 , 40 หรือ 41 องศาเซลเซียสได้ โดยจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วยค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก บางรายก็จะมีอาการเด่นทางระบบทางเดินอาหาร นอกจากนั้นอาจจะมีผื่นหรือว่ามีจุดเลือดออกตามตัวได้ ถ้าเกิดว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย ระยะที่ 2 เรียกว่าระยะวิกฤต ซึ่งไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยทุกรายจะต้องมีระยะนี้ พยาธิสภาพของโรคสำหรับระยะนี้เกิดจากการที่ผนังของเส้นเลือดฝอยสูญเสียความคงตัวไปทำให้พลาสม่า (plasma) ที่ควรจะอยู่ในหลอดเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือดอาจจะมีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือที่เรียกว่าภาวะช็อคได้ นอกจากนั้นในระยะนี้คือระยะที่ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดที่ต่ำที่สุด เพราะฉะนั้นอาจจะมีภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติจนกระทั่งทำให้เกิดภาวะช็อคหรือว่าเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกัน โดยทั่วไประยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆเกิดขึ้น ผู้ป่วยก็จะดำเนินโรคไปสู่ระยะที่ 3 ที่เราเรียกว่าระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยก็จะเริ่มกลับมารับประทานอาหารได้หรือว่าจะมีความอยากอาหาร ทั้งจะเริ่มปัสสาวะออกเยอะ เพราะว่าพลาสมาที่รั่วออกนอกเส้นเลือดจะเริ่มกลับเข้ามาในเส้นเลือดแล้วขับออกมาเป็นปัสสาวะ จากนั้นจะเริ่มมีผื่นชนิดหนึ่งซึ่งเป็นผื่นที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยเข้าสู่ระยะฟื้นตัวแล้วก็จะเป็นผื่นแดงที่มีจุดขาวตรงกลาง แล้วก็จะมีอาการคันค่อนข้างมาก ถ้าเราเห็นผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ก็แสดงว่าผู้ป้วยเข้าสู่ระยะฟื้นตัวแล้ว


โดยทั่วไปการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกจะใช้อาการทางคลินิกเป็นสำคัญ แต่ว่าในกรณีที่เราไม่สามารถแยกโรคจากโรคอื่นได้จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยมาในระยะแรกของการมีไข้ ส่วนใหญ่จะตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ แต่ถ้าผู้ป่วยมาในระยะหลังจากวันที่ 5 ของการมีไข้ไปแล้ว จะใช้วิธีการตรวจทางน้ำเหลืองเพื่อยืนยันว่ามีแอนติบอดี้ต่อโรคไวรัสไข้เลือดออกนั่นเอง

สำหรับการรักษาปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะสำหรับการรักษาโรคไข้เลือดออก เพราะฉะนั้นการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ถ้าอยู่ในระยะไข้ก็จะมีการให้ยาลดไข้ ถ้าผู้ป่วยอยู่ในระยะวิกฤตส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทีมแพทย์ผู้ดูแลรักษาก็จะมีการให้สารน้ำทดแทนพลาสม่าที่รั่วออกนอกเส้นเลือด เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อคนั้นเอง ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่ายผิดปกติจะนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำหรือความผิดปกติอื่นๆ หรือมีข้อบ่งชี้ก็จะให้มีการเติมเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดต่อไป

สำหรับการป้องกันโรค ในปัจจุบัน โรคไข้เลือดออกมีวัคซีนป้องกันโรคแล้วอยู่ 1 ชนิด โดยได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปจนกระทั่งถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี ส่วนการป้องกันโรคอื่นๆเช่นการป้องกันไม่ให้ตัวเราเองถูกยุงกัด เช่นการสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือว่าการทายากันยุง ฉีดสเปรย์ป้องกันยุงกัดก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ นอกจากนั้นก็คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่นรู้ว่ายุงลายชอบวางไข่ที่น้ำขัง ภาชนะต่างๆเราก็ทำการคว่ำให้เรียบร้อย รวมถึงการใช้ทรายอะเบทในการทำลายลูกน้ำยุงลายก็จะเป็นการตัดวงจรการระบาดอีกทางหนึ่ง

ข้อมูลโดย รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามผ่านช่องทาง Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=eFIsPlYFt8I

ร่วมแสดงความคิดเห็น