ผ่านฉลุย ! เวนคืนที่สร้างถนน เชื่อมเมืองเชียงใหม่-สันกำแพง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลสันปูเลย ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด ตำบลสันกลาง ตำบลต้นเปา ตำบลแม่ปูคา ตำบลสันกำแพง ตำบลร้องวัวแดง และตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2564 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 15 กย.ที่ผ่านมานั้น จากการสอบถามผู็นำชุมชนและ ประชาชน ในย่านดังกล่าวพบว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่ กรมทางหลวงชน กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท(ทช.) ชม. 3029 กับทางหลวงแผ่นดิน(ทล.) 1006 ซึ่งเป็นโครงการที่ชาวบ้านเฝ้ารอมานาน และ มีข้อสั่งการของรัฐบาลตั้งแต่การประชุมสัญจรนอกสถานที่ เมื่อ 30
มิย.2558 ที่เชียงใหม่

โดยทช. ชม.3029: เป็นถนนวงแหวนรอบกลางของจ.เชียงใหม่ เชื่อมระหว่าง อ.แม่ริม อ.สันทราย อ. สันกำแพง และ อ.หางดง เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร ผิวทางแบบคอนกรีต ส่วนทล. 1006: เป็นทางหลวงสายรองแยกจากทางหลวงหมายเลข11 จากสี่แยกหนองประทีป เชื่อมระหว่างอ.เมือง กับ อ.สันกำแพง เป็นถนนขนาด2 ช่องจราจร ผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีตหากมีการพัฒนาเชื่อมเส้นทางจะช่วยแก้ปัญหารถติด และเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับความปลอดภัยในการคมนาคมและการขนส่งสินค้า รองรับการเจริญเติบโต และการขยายตัวของชุมชนในอนาคต
จากนั้น กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทช.ชม. 3029 กับทล. 1006 โดยลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างและขยายถนนขนาด 4 – 6 ช่องจราจร ผิวจราจรเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 ม. ไหล่ทางกว้างช่องละ 2.50 ม. ทางเท้าและทางจักรยานกว้างข้างละ 4 ม. เกาะกลางกว้าง 4.20 – 18 ม. เขตทางกว้าง 40 – 65 ม. ระยะทางยาวประมาณ 16.324กม. มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ 425 ไร่ และมีอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 129 รายการ ใช้งบประมาณดำเนินโครงการประมาณ 4,266 ล้านบาท (ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์13.3 ล้านบาท ค่าทดแทน
อสังหาริมทรัพย์ประมาณ 453 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 3,800 ล้านบาท)

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์โครงการ สรุปผลความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ พบว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ4,125.57 ล้านบาท อัตราส่วนมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ค่าใช้จ่าย มีค่า 2.47 อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ มีค่า 24.86 % ถือได้ว่ามีความ เหมาะสมที่จะดำเนินการ หลังจากมีการอนุมัติในหลักการเมื่อ 17 พ.ย. 2563 สำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ตามความจำเป็น และเหมาะสม เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งตามขั้นตอนของโครงการนี้ ช่วง กค. 2560 ประชาคมครั้งสุดท้ายนำเสนอบทสรุปแบบถนน
ปี 2561-2562 – เข้าสู่ขั้นตอนสำรวจและเวนคืนที่ดิน มีพรฏ.เวนคืน ปี 2563-2564 แม้ว่าตามประกาศพระราชกฤษฎีกานี้ มาตรา 6 กำหนด ให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

โดยกรมทางหลวงชนบทเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืนนั้น มีการบริหารจัดการสำรวจเรียบร้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าหากขั้นตอนประมูลก่อสร้างดำเนินไปตามแผนในปีงบประมาณ 2565 โครงการดังกล่าวน่าจะแล้วเสร็จภายใน1-2 ปีแน่นอน อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามประชาชน ที่อยู่อาศัย ในแนวเส้นทางสายใหม่พบว่า พอมีประกาศเวนคืน มีความชัดเจนที่จะ สร้างถนนสายนี้ ทำให้ราคาซื้อขายที่ดิน ปรับตัวขึ้น โดยที่ดินในการซื้อขายส่วนใหญ่จะเป็นแปลงเกษตร ที่สวน ไร่นา ส่วนแนวที่ดิน ซึ่งกำหนดเวนคืนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ทช.)จะมีเกณฑ์กำหนด ในการจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมกับปัจจุบันและงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

ร่วมแสดงความคิดเห็น