21 กันยายน “วันอัลไซเมอร์โลก”

องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ Alzheimer’s Disease International ได้ประกาศให้วันที่ 21 กันยายน เป็น “วันอัลไซเมอร์โลก” ตามชื่อของผู้ค้นพบโรคอัลไซเมอร์คือจิตแพทย์ชาวเยอรมันนามว่า Alois Alheimers’ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์โดยตรง ด้วยเหตุนี้การป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง มีสถิติพบว่าการป้องกันโรคสมองเสื่อมในระยะแรกเริ่มจะสามารถลดการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ประมาณ 50%

สมองเสื่อม คือภาวะที่ผู้มีภาวะนี้จะสูญเสียความสามารถในการทำงานของสมองในหลายๆด้าน ซึ่งอาจเป็นด้านความจำที่ด้อยลง การคิดอ่าน การวางแผน การตัดสินใจ การใช้ภาษา ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืออาชีพที่เคยทำได้ตามเดิม และอาจมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 พบถึงร้อยละ 60-70 ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดจากเซลล์สมองเสื่อม

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยเสี่ยงโรคสมองเสื่อมหลายอย่าง ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด,อายุที่มากขึ้น ,การศึกษาน้อยในวัยเด็ก , การได้ยินที่ผิดปกติ, การไม่ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวน้อยในแต่ละวัน, การไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม , โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน , การสูบบุหรี่ , โรคซึมเศร้า รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บทางศีรษะ , การมองเห็นที่ผิดปกติ , การนอนหลับที่ผิดปกติหรือไม่มีคุณภาพ , ผู้หญิงมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงต่ำมาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งมีญาติใกล้ชิดมีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

โรคอัลไซเมอร์ คือ สภาวะของสมองที่เสื่อมลงจากเดิมไม่ใช่เฉพาะเรื่องความจำเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อัลไซเมอร์ไม่ใช่แค่หลงลืม แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการหลงลืม อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือการสูญเสียความจำระยะสั้น จำเรื่องที่เพิ่งพูดไปได้ไม่นานก็ลืม ชอบเล่าเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา เดินหลงทิศทาง การแก้ปัญหาง่ายๆทำไม่ได้ อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี่เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว

จากการประชุม AAIC ( Alzheimer’s Associations International Conference ) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา มีข่าวความก้าวหน้าในทางการแพทย์ เพิ่มเติมขึ้นจากเดิม ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  1. ความดันโลหิตสูง,เบาหวานและโรคอ้วน ในช่วงอายุ 20 ถึง 49 ปี และโรคอื่นๆที่มีผลต่อหัวใจ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และชัดเจน จึงต้องรีบแก้ไขตั้งแต่ในวัยรุ่น เพราะ มีผลอันสำคัญต่อสภาวะสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น
  2. ระดับการศึกษาในระยะต้นๆของชีวิตจนถึงอายุ 21 ปี มีผลสำคัญต่อความสามารถในการใช้ภาษา และความจำในวัยผู้ใหญ่ ระดับการศึกษาที่ดีในวัยเด็ก สามารถลดปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในอายุมากๆได้
  3. จากงานวิจัยใหม่ๆเกิดขึ้นการตรวจพิเศษเพียงแค่การเจาะเลือด หาระดับ p-tau 217 ก็จะสามารถให้การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้โดยที่ไม่ต้องใช้ใช้การตรวจ Pet scan ที่ราคาแพงหรือกันตรวจสมองโดยตรง ปัจจุบันนี้ไม่ต้องใช้เช่นนั้นแล้ว
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวมในผู้สูงอายุสามารถ ลดปัจจัยเสี่ยงของการเป็นอัลไซเมอร์ได้
  5. ช่วงระยะเวลาที่มีการระบาดของ COVID -19 มีผลเสียอย่างมากต่อผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่เนอร์สซิ่งโฮม โดยมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล จึงเสนอให้มีนโยบายระมัดระวังป้องกันผู้สูงอายุในเนอรสซิ่งโฮมในช่วงที่มีการ ระบาดอย่างเคร่งครัด

ภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องหลายประการและมีความซับซ้อนในเรื่องของกลไกการเกิดโรค การควบคุมปัจจัยเสี่ยงจึงมีความสำคัญอย่างมาก อาทิ

  • การรับประทานอาหาร ควรรับประทานให้ครบ 5 หมู่และมีสัดส่วนที่เหมาะสมดังนี้ โปรตีน 25%, คาร์โบไฮเดรต 25% และผักผลไม้ 50% อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งพบมากใน แอปเปิ้ล องุ่น บลูเบอร์รี่ ลูกพรุน ผักสีเขียว ผักสีแดง ผักสีเหลือง ชาเขียว ชาใบหม่อน อาหารที่มีวิตามินบี วิตามินดี และโฟเลต รวมถึงการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนชนิดโอเมก้า 3 ซึ่งมีมากในน้ำมันมะกอก ปลาทะเลและปลาที่มีไขมันสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้ การรับประทานถั่วและธัญพืช รวมถึงผักผลไม้ต่างๆ และน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนก็พบว่ามีส่วนช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ด้วยเช่นกัน
  • Exercise of Body and Mind interventions : การออกกำลังกายสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของสมอง และสามารถทำให้มีมีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อสมองในทางที่ดีขึ้น ข้อแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายมีดังต่อไปนี้ อ้วนออกกำลังกายอย่างน้อย 2-5 วัน ต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที และควรผสมผสานกับการออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างน้อย 10 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย
  • ส่วนการฝึกออกกำลังใจและจิตนั้น สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การฝึกเพิ่มความจำ การวางแผน การแก้ปัญหา การตัดสินใจ และนอกจากนี้ เราอาจฝึกสมองด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การอ่าน เล่มเกมปริศนาอักษรไขว้ เล่นหมากรุก เกมไพ่บางชนิด เป็นต้น รวมถึงเกมพัฒนาสมองต่างๆทางแอพพลิเคชั่น หรือทางคอมพิวเตอร์ แต่ต้องเล่นอย่างสมดุล พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากเล่นมากเกินไปอาจทำให้สมองเสื่อมลงได้เช่นกัน
  • Meditation การฝึกสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิหรือโยคะ ช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียด รวมถึงผู้ที่มองโลกในแง่บวกจะมีสุขภาวะกายและใจที่ดีกว่า มีอายุยืนกว่าผู้ที่เครียดหนักและมองโลกในแง่ร้ายเสมอ มีการศึกษาพบว่า การทำสมาธิสามารถช่วยลดสภาวะการเสื่อมของสมองได้ภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการปรับเปลี่ยนวงจรชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีหลีกเลี่ยงการอดนอน นอนดึก นอนไม่เป็นเวลา หรือแก้ไขภาวะบางอย่างที่ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ

สำหรับข้อมูลอัพเดทล่าสุดจากการประชุม AAIC ปี 2564 ที่ Denver USA มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนไข้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่หายแล้วมีบางส่วนที่มีอาการคล้ายโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์อาจเกิดจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีรายงาน ที่ชื่อว่า The tale from three Cities จาก สหรัฐอเมริกา และ ประเทศฝรั่งเศส ที่ผลชี้นำไปในทางเดียวกันว่า การที่เพิ่มอากาศสะอาด ลดปริมาณ ฝุ่น จิ๋ว มหาภัย PM2.5 และ ควันพิษ ท่อไอเสีย เป็นเวลานาน อย่างน้อย 10ปี จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งโรคอัลไซเมอร์จึงเป็นโรคสามารถเกิดได้กับทุกคน และเมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และบุคลิกภาพ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระยะแรกๆ และจะเป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่พบบ่อยที่สุดคือภาวะซึมเศร้า มึนงง วิตกกังวล แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยก็อาจจะมีสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือหงุดหงิด ซึ่งจากอาการของโรคการดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก มีทั้งความเครียด ความซึมเศร้า หงุดหงิด ดังนั้นเพื่อให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยนั้นมีความสุขไปด้วยกัน ผู้ดูแลควรมีแนวทางการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ที่เหมาะสม ความลับของการรักษาคนไข้ คือรักษาด้วยความรัก “แม้ความจำจะเลือนลาง แต่ความสุขต้องยืนยง”

ข้อมูลโดย รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มช.

ร่วมแสดงความคิดเห็น