หอการค้าฯ 17 จังหวัด จับมือสภาลมหายใจภาคเหนือดันสร้างกลไกแก้ฝุ่นควัน PM 2.5 กระทบศก.-สุขภาพ

หอการค้า 17 ภาคเหนือ ตื่นตัวการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่จะคืบคลานในฤดูกาลปี 2565 และส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในพื้นที่ และสุขภาพประชาชนต่อเนื่องมากกว่า 15 ปี ซ้ำเติมจากการระบาดของ COVID จับมือประสานสภาลมหายใจภาคเหนือสร้างกลไกแก้ไขปัญหายั่งยืนร่วมระดับภาค  ผลักดันเชิงนโยบายด้านกฎหมาย 8 ข้อหลัก โดยใช้กลไกกรอ.จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสะท้อนสู่สังคมรับรู้ ดันบรรจุหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาด้านปัญหามลพิษทางอากาศไว้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมออกแบบแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่  และนำศักยภาพมาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการลดการสร้างฝุ่น

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่  17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาได้จัดประชุมหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างหอการค้าจังหวัดภาคเหนือกับสภาลมหายใจภาคเหนือ  โดยมีกรรมการหอการค้าไทยฯ (ภาคเหนือ), ประธานและเลขาธิการหอการค้ากลุ่มจังหวัด, ประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัด, ประธาน YEC หอการค้าจังหวัด เข้าร่วมประชุมคณะทำงาน โครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ และผู้แทนสภาลมหายใจภาคเหนือ“คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ และ สภาลมหายใจภาคเหนือ ได้เห็นชอบเล็งร่วมกันในการปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้ประสบปัญหาและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คาดหวังว่ารัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยว ในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ หอการค้าฯ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญในการจะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันของภาคเหนือ โดยดำเนินการตามข้อเสนอ ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นในช่วงปี 2565 ก็จะไม่ทันการเหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา”

นายสมบัติกล่าวว่า หอการค้าฯภาคเหนือจะผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอของ  แนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน และสร้างพลังความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการหาทางออกจากปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ผ่านข้อเสนอเชิงนโยบาย 8 ข้อ ที่สำคัญได้แก่ 1.การให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดทางสุขภาพ     2.การปรับเปลี่ยนวิธีจัดการไฟในเขตป่า โดยให้รัฐฯ สาเหตุข้อปัญหาอุปสรรคของสถิติการเกิดไฟในพื้นที่ป่าของรัฐทั้งสองส่วนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดชุดมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพขึ้น 3.การบริหารจัดการเผาในพื้นที่เกษตรให้รัฐบาลเร่งรัดทุกมาตรการเปลี่ยนการเผาภาคเกษตรให้เป็นวิธีการอื่นที่ยั่งยืน  4.การจัดแผนโซนนิ่งพื้นที่เกษตรที่สูง ขอให้มีแผนโซนนิ่งพื้นที่เกษตรที่สูงทั้งหมดในภาคเหนือ เปลี่ยนจากการเกษตรใช้ไฟไม่ยั่งยืนให้เป็นเกษตรนิเวศยั่งยืน โดยมีแผนมาตรการร่วมกับชุมชนท้องถิ่น   5.การบริหารจัดการเชื่อมโยงกับชุมชนและท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดกระบวนการเพิ่มบทบาทของชุมชนท้องที่และท้องถิ่นในการร่วมออกแบบวางแผน กำหนดมาตรการระดับพื้นที่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี  6.การจัดหาเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่ โดยเพิ่มจำนวนเครื่องวัดคุณภาพอากาศ ในทุกตำบล ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ7.การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ในการแก้ไขปัญหา โดยเชื่อมโยงกับภาควิชาการฯ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และ8.การเร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน  โดยนำมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแบบค่อยเป็นค่อยไปหากการขอความร่วมมือยังไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ


นายสมบัติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ความร่วมมือยังจะได้ยกระดับการสร้างกลไกผลักดันระดับภาคและระดับจังหวัด เพื่อผลักดันเชิงนโยบาย อาทิ การบรรจุหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาไว้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน, การผลักดันการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควัน โดยใช้กลไกในระดับ กกร.กลุ่มจังหวัดและจังหวัด,  กรอ.กลุ่มจังหวัดและจังหวัด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมหอการค้าจังหวัดภาคเหนือและสภาลมหายใจภาคเหนือร่วมกัน โดยกำหนดให้มีตัวแทนหอการค้าจังหวัด และ YEC หอการค้าจังหวัด เข้าร่วมผลักดันและสนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในพื้นที่ เช่นโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น เป็นต้น

ด้านนายวิทยา ครองทรัพย์  หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ และผู้แทนสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการลงนามความร่วมมือสภาลมหายใจภาคเหนือในระดับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เห็นว่าควรจะมีการประสานเครือข่ายภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของภาคเหนือร่วมกัน และเป็นที่น่ายินดีที่ได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ

หอการค้าไทย ที่ประกอบด้วยหอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือที่ให้ความสำคัญและมองว่าเป็นประเด็นที่สร้างผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ รวมถึงเยาวชนในพื้นที่ในอนาคตร่วมกัน โดยจะได้ผลักดันโครงการนำร่องได้แก่ โครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นในทุกจังหวัด การให้ความรู้ความเข้าใจในสาเหตุ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นทิศทางเดียวกันเป็นต้นในที่ประชุมร่วมกับหอการค้าฯ ได้มีการหยิบยกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในภาคเหนือ ได้แก่ การบริหารจัดการเชิงโครงสร้างทั้งกายภาพ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ ที่ใช้ไฟในการเผาวัสดุทางการเกษตร   การผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน การใช้กลไกการแก้ไขปัญหาผ่านระดับตำบล   การนำศักยภาพในพื้นที่มาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการลดการสร้างฝุ่น รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหา  เป็นต้น ทั้งนี้ทางคณะทำงานร่วมกันทั้งสองจะได้วางแผนและดำเนินการผลักดันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น