เผยความสำเร็จผลงานวิจัยพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรไทย 3 ชนิด มีคุณสมบัติช่วยลดภาวะความเสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ

นายวิสิษฐ กอวรกุล ประธานบริหาร บริษัท เจดับบลิว เฮอร์เบิล จำกัด และบริษัทในเครือ เจดับบลิวกรุ๊ป เปิดเผยถึงความสำเร็จผลงานวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity Development Program: IRTC) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) โดยมี ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย พบคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จากสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ขิง พุทราจีน และเห็ดหูหนูดำ ซึ่งช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง ลดการอักเสบในภาวะความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังพบว่าขิงที่มีความเข้มข้นยังมีสาร Gingerol ที่เป็นประโยชน์แก่หลอดเลือด รวมถึงพบวิธีคัดเลือกคุณลักษณะเฉพาะของวัตถุดิบเพื่อให้การออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

นายวิสิษฐ กอวรกุล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ บริษัทจึงนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นตำรับอาหารเสริมในระดับอุตสาหกรรมที่สามารถใช้เป็นส่วนเสริมการรักษามาตรฐานในโรคหลอดเลือดสมองตีบตันควบคู่กับยา  แผนปัจจุบันได้ บริษัทจึงมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากงานวิจัยพร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย    สู่ระดับสากล โดยหวังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดจากทั่วโลก จึงร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการดังกล่าว วิจัยและพัฒนาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี จนพบสูตรตำรับยาในการช่วยให้หลอดเลือดมีความแข็งแรงซึ่งจะลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ จึงต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมภายใต้แบรนด์ “V FLOW” พร้อมลงนามสัญญา    รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในรูปผงแกรนูลชงสำเร็จพร้อมดื่มและเครื่องดื่มสารสกัดเข้มข้น  พร้อมดื่ม โดยผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีที่ช่วยคงคุณค่าทางโภชนาการและประสิทธิภาพในการลดภาวะความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (IRTC) นับเป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมนักวิจัยจากรั้วมหาวิทยาลัยดำเนินงานวิจัยเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ภายใต้การสนับสนุนตามกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือในการยกระดับผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดความร่วมมือในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น