(มีคลิป) วัดทุ่งกวาว สำนักปฏิบัติธรรมแห่งที่ 1 ของ จ.แพร่ กับตำนานในอดีตมาจากคำว่า “โต้งกว๋าว”

วัดทุ่งกวาว ตั้งอยู่เลขที่ 109 บ้านทุ่งกวาว หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2480 เขตวิสูงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2481 ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด 3 ฉบับ เลขที่ 62942,62909 และ 62943

วัดทุ่งกวาว สร้างเมื่อ พ.ศ.2330 หลังจากไทยเสียกรุงศรีอยุธยาผ่านไป 20 ปีเดิมชื่อว่า “วัดโต้งกว๋าว” ประชาชนที่เข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งกวาวและทุ่งป่าดำ ร่วมกันสร้างวัดแห่งแรก วัดอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ที่ดินได้รับถวาย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งวัดปัจจุบัน ผ่านมาประมาณ 30 ปี พ่อฮ้อยคำมาตย์ แม่เลี้ยงคำป้อ ได้ถวายที่ดินให้กับวัด ครูบาวงศ์ จึงได้ย้ายวัดออกมาสร้างใหม่ได้ประมาณ 10 ปี ครูบาวงศ์ได้ถึงแก่มรณภาพลง แม่เลี้ยงคำป้อ ซึ่งเป็นศรัทธาเก๊าได้ถวายความอุปถัมภ์วัดมาโดยตลอด

เมื่อสิ้นบุญแม่เลี้ยงคำป้อไปแล้ว แม่เลี้ยงบุญปั๋น ซึ่งเป็นลูกสาว ได้ช่วยส่งเสริมทนุบำรุงวัดสืบแทนแม่ ล่วงไปได้ 18 ปี ครูบาอุตตมะ ได้ถึงแม่มรณภาพลง ทางการสงฆ์จึงได้แต่งตั้ง พระก๋าวิชัย (โก๋) เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน แม่เลี้ยงบุญปั๋น ซึ่งเป็นเจ้าช้าง ได้ทุ่มเทอุปการะวัดอย่างเต็มที่ ได้สร้างวิหารหลังใหม่ครอบหลังเก่า ใช้เสาร์ไม้ถากซ่อมเป็นเหลี่ยม ลงรักปิดทองลวดลายสวยงามดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เมื่อเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว แม่เลี้ยงบุญปั๋นได้เป็นศรัทธาเก๊า ฉลองวิหารเมื่อ พ.ศ. 2443 ซึ่งเป็นการฉลองครั้งยิ่งใหญ่มโหฬารที่สุดไม่มีใครทำได้ในสมัยนั้น โดยมีเจ้าหลวงเมืองแพร่มาเป็นประธาน พอเสร็จงานแล้วมีการจุดบอกไฟนับหมื่นส่งท้าย มีคำกล่าวว่าบอกไฟหลวงบอกนี้ใช้ต้นตาลเป็นกระบอกใช้ดินไฟ (ดินประสิว) ประมาณ 30 กก.เตรียมสร้างบอกไฟอยู่ 9 เดือน ก่อนจะนำบอกไฟไปจุด แม่เลี้ยงผู้เป็นแม่เก๊าได้ให้เจ้าตำราบอกไฟนุ่งขาวห่มขาว นำข้าวตอกดอกไม้ไปเชิญกลองหลวง (กล๋องปูจา) ไปร่วมแห่ด้วย คำเชิญกล๋องหลวงว่า

“อี่ย่าหน้ามน ผู้มีลูกสามคน หน้ามนเหมือนแม่ ข้าขออังเจิญเจ้ากู ไปแห่บอกไฟหลวง อันข้าได้เยี๊ยะมาจากบ้องกล๋วงเก๊าตาลใหญ่ จักนำไปจิ ต๋ามใต้ปร๋าเวณี หื้อเป็นสะหลีจัยโจคกว้าง หื้อต่างตังหลาย ได้มาอวดอ้างลือจา จิ่มเต่อ”

วิหารหลังงามซึ่งได้จัดมหกรรมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้วนั้น ยังสง่างามและโดดเด่นด้วยศิลปะให้เห็น เป็นที่น่าภูมิใจพร้อมทั้งมีองค์พระประธานซึ่งออกแบบโดยช่างศิลป์ในยุคนั้น ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและสักการะไปอีกแสนนาน

ลำดับเจ้าอาวาส 1.) ครูบาวงศ์ พ.ศ.2330-2370 2.) ครูบาอุตตมะ พ.ศ.2370-2388 3.) ครูบาเก๋าวิชัย(โก๋) พ.ศ.2388 -2446 4.) ครูบาอานา พ.ศ. 2446-2482 5.) พระนวล นนฺโท พ.ศ.2482 – 2508 6.) พระราชวิสุทธี อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2508-ปัจจุบัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น