โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกล ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ประเทศไทย ยังมีหมู่บ้านในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารอีกหลายแห่ง และสำหรับพื้นที่ชายแดนในภาคเหนือ ที่ยังขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ที่มั่นคงนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ จำนวนกว่า 20,107 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 12,566,911 ไร่ มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของภาคเหนือ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและป่าละเมาะ มีที่ราบอยู่ตอนกลางตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง มีภูเขาที่สูงสลับซับซ้อน โดยพื้นที่ภูเขา คิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 80 ของจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ส่วนบางพื้นที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเขาชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งในหลายพื้นที่ยังขาดเเคลนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน เพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปีงบประมาณ 2561-62 จึงได้ดำเนินการสร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร พร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังสถานที่ส่วนกลางของชุมชน โดยโครงการพลังงานทดแทน (SOLAR CELL) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) การดำเนินการแบบไม่เชื่อมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมุ่งไปทำในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น อำเภออมก๋อย และ 2) ลักษณะเป็นระบบที่พื้นที่ที่ไฟฟ้าของบ้านเรือนเข้าไปถึงแต่เป็นพื้นที่ปลายสายห่างไกล ไม่มีความมั่นคงและความเสถียรของกระแสไฟ เช่นที่บ้านเมืองคอง อำเภอเชียงดาว ระบบ SOLAR CELL จะได้เข้าไปช่วยให้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่มีความมั่นคงและเสถียรมากยิ่งขึ้น

จากนั้นจึงดำเนินการส่งมอบให้กับองค์กรบริหารส่วนตำบล เข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ครัวเรือน พร้อมจัดตั้งกฎระเบียบการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลถิ่นทุรกันดารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีร่วมกับชุมชน และเพื่อจัดตั้งกองทุนไฟฟ้าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่

1. พื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ด้วยศูนย์อำนวยการเเก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย (ศมพ.อมก๋อย) เป็นหน่วยงานเพื่อแก้ไขในพื้นที่ที่มีการปลูกฝิ่น และวางแผนให้สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานให้ประชาชนในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้พร้อมกับการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงดำเนินการสร้างต้นแบบนำร่องและแนวทางในการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ พื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการ จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย บ้านพะอัน, บ้านจกปก, บ้านห้วยไก่ป่า และบ้านมูเซอหลังเมือง รวมประชากรทั้งสิ้น 1,565 คน 460 ครัวเรือน และอีกหนึ่งเป้าหมาย คือ ศมพ.อำเภออมก๋อย โดยทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์ แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงานขนาดความจุ 840 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ได้จัดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน ระยะทาง 4,500 เมตร เสาไฟแสงอาทิตย์พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 120 ต้น พร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังสถานที่ส่วนกลางของชุมชนเพื่อต่อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ครัวเรือน ทั้งนี้การดำเนินโครงการยังมุ่งเน้นถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่าง คุ้มค่าและพอเพียง เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณชีวิต ขั้นพื้นฐานให้กับชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างสมดุล
ปัจจุบันบ้านพะอัน บ้านจกปก และบ้านห้วยไก่ป่า ได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนไฟฟ้าชุมชน และจ่ายกระจายไฟฟ้าให้กับครัวเรือนแล้ว ในช่วงเดือน พฤษภาคม 2564 และได้ดำเนินการส่งมอบระบบดังกล่าวให้กับ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น, องค์การบริหารส่วนตำบสบโขง และองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย (ศมพ.อำเภออมก๋อย) และ องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ จะบูรณาการในการดำเนินร่วมกัน เพื่อผลสำเร็จของโครงการที่จะสามารถเป็น ต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

2. พื้นที่อำเภอตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว
ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่อยู่ห่างจังหวัดเชียงใหม่ 115 กิโลเมตร มีจำนวนประชากร 3,947 คน 1,438 ครัวเรือน เป็นชุมชนห่างไกล ประชาชนในตำบลเมืองคองประสบปัญหาไฟตกไฟดับเนื่องจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าปักเสาพาดสายผ่านพื้นที่ป่าเขา ร่วมถึงระยะทางที่ห่างไกล เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด การดำเนินกิจกรรมที่ต้องใช้ไฟฟ้าหยุดชะงัก เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเล็งเห็นความสำคัญในการบรรเทาปัญหา จึงเสนอโครงการผ่าน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์ แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังติดตั้ง 400 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูงขนาดความจุ 1,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง โครงข่ายไฟฟ้าชุมชนรวมไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร และ เสาไฟจำนวน 100 ชุด ในพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่, องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง, โรงเรียนบ้านเมืองคอง, โรงเรียนบ้านวังมะริว และโรงเรียนดอยสามหมื่น ปัจจุบันดำเนินการติดตั้งระบบฯ จ่ายกระเเสไฟฟ้าให้กับพื้นที่เป้าหมายแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการจ่ายไฟฟ้าไปยังชุมชน
สำหรับการส่งมอบระบบดังกล่าวให้กับ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง จะได้บูรณาการงานร่วมกัน เพื่อผลสำเร็จของโครงการที่จะสามารถเป็น ต้นแบบความเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
21 ตุลาคม 2564

ร่วมแสดงความคิดเห็น