นิทรรศการสัญจรสู่จังหวัดเชียงใหม่ โอะกุริโมโนะ สุนทรียะแห่งการให้และได้คืนกลับ The Beauty of Exchanging Gifts in Japan: Giving Shape to One’s Thoughts and Emotions

เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดนิทรรศการสัญจร “นิทรรศการโอะกุริโมโนะ สุนทรียะแห่งการให้และได้คืนกลับ (The Beauty of Exchanging Gifts in Japan: Giving Shapes to One’s Thoughts and Emotions)

นิทรรศการนี้เป็นชิ้นงานเก็บรวบรวมล่าสุดของเจแปนฟาวน์เดชั่นและได้เดินทางมายังประเทศไทยเป็นจุดหมายแรกในโลก และได้จัดแสดงแล้วที่กรุงเทพ ฯ และขอนแก่น และตอนนี้กำลังจะไปเยือนจังหวัดเชียงใหม่และจะเปิดให้ชมนิทรรศการขึ้นระหว่างวันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน –วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่สุดท้ายในประเทศไทย
นิทรรศการนี้กำกับโดยคุณนากาซากิ อิวาโอะ ผู้อำนวยการและศาสตราจารย์คณะสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย มหาวิทยาลัยสตรีเคียวริสึ โดยนำเสนอพิธีการและธรรมเนียมปฏิบัติของการมอบของขวัญในญีปุ่น พร้อมทั้งลักษณะความงามและความหลากหลายของของขวัญที่นำมาแลกเปลี่ยน ทั้งยังบอกเล่าความคิดคำนึงและปรัชญาของชาวญี่ปุ่นผู้อยู่เบื้องหลังของชิ้นนั้น ๆ สิ่งของที่ถูกคัดสรรมา รวมถึงการแลกเปลี่ยนของขวัญเองจึงต้องมีความสวยงาม ขณะเดียวกันมีความเหมาะสมในการถ่ายทอดความรู้สึกออกไป

ในประเทศญี่ปุ่น “การมอบของขวัญ” ไม่ใช่เพียงแค่การยื่นสิ่งของให้ แต่เป็นการแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อผู้รับและปรารถนาให้มีความสุข ลวดลาย รูปทรง สี วัสดุ และกรรมวิธีการสร้างสรรค์ล้วนสะท้อนถึงความคิดความรู้สึกที่มีต่อผู้รับ เหตุใดพ่อแม่เจ้าสาวจึงมอบชิโระมุคุ กิโมโนสีขาวบริสุทธิ์ประดับลาย คิชโช ที่ประกอบด้วยต้นไผ่ สน ต้นบ๊วย และบางครั้งรูปนกกระเรียนและเต่า แก่ลูกสาวของพวกเขา? ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงใช้ ฟุกุสะ และ ฟุโรชิกิ ในการห่อของขวัญ? พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นดูแลเด็กแรกเกิดและลูก ๆ อย่างไร เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงสมบรูณ์? ทำไม ฮาโอริ และ ฮันเท็น เสื้อคลุมฤดูหนาวตัวสั้นของญี่ปุ่นจึงมีตราประจำตระกูลหรือสัญลักษณ์และสิ่งเหล่านี้มีไว้เพื่ออะไร?

คำตอบทั้งหมดสามารถค้นหาได้ในนิทรรศการนี้จากกว่า 90 ชิ้นงานจัดแสดงที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เพื่อเสนอรูปร่างทางความคิดและความรู้สึกของผู้ให้ของชาวญี่ปุ่นในช่วงเวลาสำคัญต่าง ๆ ของชีวิต ดังนี้

ส่วนที่ 1: ของขวัญต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงาน: เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์สำหรับพิธีแต่งงานรวมถึงของขวัญที่มอบให้ในช่วงการเฉลิมฉลองซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณของการอธิษฐานให้เจ้าสาวมีความสุข

ส่วนที่ 2: หัวใจและศิลปะของการห่อของขวัญ ฟุกุสะและฟุโรชิกิ: จิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นใน “การห่อของขวัญ” รวมถึง สุนทรียะตามแบบญี่ปุ่นที่สื่อสารผ่านลวดลายและการออกแบบต่างๆมากมาย

ส่วนที่ 3: ของขวัญจากพ่อแม่แก่ลูก: ในบริบทของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ของขวัญจากพ่อแม่ที่มอบให้แก่ลูก ๆ เผยให้เห็นถึงความรักและคำอวยพรให้ลูกของพวกเขาเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงสมบูรณ์

ส่วนที่ 4: การมอบของขวัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์: การมอบและแลกเปลี่ยนของขวัญ ทำเพื่อยืนยันและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ทั้งในความสัมพันธ์แบบขุนนางบริวาร เจ้านายลูกน้อง หรือแม้แต่คนที่อาศัยในละแวกเดียวกัน

เราหวังว่านิทรรศการนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมและเข้าใจในลักษณะ “การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ” และ “ความสัมพันธ์อันแน่นเฟ้นของผู้คน” ที่ล้วนเป็นรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นและอยู่ในพิธีกรรมการมอบของขวัญในญี่ปุ่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น