เสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป นำไปสู่ความวิตกกังวลได้

การเล่นโซเชียลมีเดียกลายเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรประจำวันของมนุษย์แทบจะทุกคนเลยก็ว่าได้ นับตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้าไปจนถึงเข้านอนในตอนกลางคืน แน่นอนว่าการท่องอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียสามารถสร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลินและผ่อนคลายได้ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันอีกด้วย เนื่องจากโซเชียลมีเดียในปัจจุบันเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วแค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส อย่างไรก็ตามการท่องอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียที่มากและนานเกินไป จนบางครั้งไม่สามารถควบคุมได้และกลายเป็นคนที่เสพติดโซเชียลมีเดียในที่สุด หนึ่งในผลเสียที่จะตามมาจากการเสพติดโซเซียลมีเดียมากเกินไปคือความวิตกกังวล

 

คุณมีความเสี่ยงต่อการเสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปหรือไม่ ลองตอบ 6 ข้อคำถามนี้ดู

  1. คุณใช้เวลามากในการคิดเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียหรือวางแผนที่จะใช้โซเซียลมีเดียใช่หรือไม่?
  2. คุณรู้สึกถูกกระตุ้นให้ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ ใช่หรือไม่?
  3. คุณใช้โซเชียลมีเดียเพื่อลืมปัญหาส่วนตัวหรือไม่?
  4. คุณมักจะพยายามลดการใช้โซเชียลมีเดียแต่ไม่ประสบความสำเร็จใช่หรือไม่?
  5. คุณกระสับกระส่ายหรือลำบากใจหากไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียใช่หรือไม่?
  6. คุณใช้โซเชียลมีเดียมากจนส่งผลเสียต่องานหรือการเรียนใช่หรือไม่?

หากคำตอบคือ ใช่ มากกว่า 3 ข้อ อาจบ่งบอกถึงการเสพติดโซเชียลมีเดียได้ (ชุดคำถามนี้มากจากเว็บไซต์ addictioncenter.com จากต่างประเทศ เป็นเว็บไซต์ที่ให้ความรู้และการรักษาอาการเสพติดสิ่งต่าง ๆ ที่ครอบคลุมและหลากหลาย)

การเสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปนำไปสู่ภาวะสุขภาพจิตในเชิงลบและการเห็นคุณค่าในตัวเองที่ต่ำ (Low-Self Esteem) จนเกิดความวิตกกังวลในการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การเห็นผู้อื่นโพสต์รูปภาพชีวิตที่ดี ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ได้ทานอาหารราคาแพง แล้วเกิดความรู้สึกท้อแท้ หงุดหงิดกับชีวิต คิดว่าตัวเองดีไม่พอ โทษตัวเอง เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น และลดทอนคุณค่าของตัวเองว่า “ทำไมชีวิตฉันถึงไม่ดีเหมือนเขาบ้าง?” “เป็นเพราะตัวฉันที่ไม่มีความสามารถในการทำงาน” “ฉันไม่เก่งพอที่จะทำงานและมีเงินเก็บขนาดที่จะไปเที่ยวต่างประเทศและทานอาหารราคาแพงได้” จนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน การทำงานและความสามารถของตัวเองก็เป็นได้ อีกหนึ่งตัวอย่างจากการเสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปคือการไม่สามารถแยกความจริงออกจากโลกโซเชียลได้ กล่าวคือไม่ใช้วิจารณญาณในการเล่นโซเชียลมีเดีย หลงเชื่อข้อมูลที่เป็นเท็จและมีโอกาสที่จะถูกหลอกได้ง่ายอีกด้วย

ความวิตกกังวลเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาตนเองอย่างมาก เนื่องจากต้องคอยยึดติด หมกหมุ่นและพะวงเรื่องต่าง ๆ นา ๆ จนไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือเดินหน้าต่อไปในอนาคต ดังนั้นการลดความวิตกกังวลถือเป็นเรื่องที่ดี

ผู้อ่านสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียและควบคุมไม่ให้เสพติดจนเกินไปได้ดังนี้ หากิจกรรมทดแทนการเล่นโซเซียลมีเดีย เช่น ออกกำลังกาย เดินเล่น อ่านหนังสือ และพบปะเพื่อนฝูง เป็นต้น นอกจากร่างกายจะแข็งแรงแล้วยังเป็นการเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างอีกด้วย และลองกำหนดระยะเวลาในการเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อจัดสรรเวลาให้ได้ใช้อย่างเต็มที่และมีประโยชน์มากที่สุด แอดเชื่อว่าทุกคนทำได้และเป็นกำลังใจให้นะคะ เพื่อสุขภาพจิตที่ดีค่ะ

ที่มา :     https://www.addictioncenter.com/drugs/social-media-addiction/

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น