(มีคลิป) ผู้นำม่อนแจ่ม ออกแจงปมสาเหตุ ชาวบ้านปิดล้อมเจ้าหน้าที่ เชื่อถูกคุกคามก่อน จนชาวบ้านถูกมองว่าผิด

ผู้นำม่อนแจ่ม ออกแจงปมสาเหตุ ชาวบ้านปิดล้อมเจ้าหน้าที่ เชื่อถูกคุกคามก่อน จนชาวบ้านถูกมองว่าผิด เผยถูกหน่วย SWAT พร้อมอาวุธครบมือปิดล้อมหมู่บ้านในวันที่เกิดเหตุ

วันที่ 15 ม.ค.65 รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีวันที่ 12 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทำการปิดล้อมเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ไม่ยอมให้ออกจากพื้นที่ เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ ตรวจสอบเก็บข้อมูลการก่อสร้างอาคารที่พักขนาดใหญ่ จำนวน 5 หลัง บริเวณบ้านหนองหอยใหม่ หมู่ 11 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จนกระทั่งเหตุการณ์บานปลายหนัก จนต้องส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับชาวบ้านนานหลายชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันดังกล่าว และกระทั่งชาวบ้านยอมสลายตัวในช่วงค่ำคืน เวลาประมาณ 22.00 น. ของวันเกิดเหตุ ขณะที่ต่อมาหลังกรณีกระแสข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปแล้วนั้น ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กับทางชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ล่าสุดวันนี้ (15 ม.ค.65) ทางด้าน นายวิชิต เมธาอนันต์กุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าว โดยเล่าเหตุการณ์ในฝั่งของชาวบ้านว่า ก่อนหน้านั้นได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บุกเข้าไปในบ้านของชาวบ้านโดยไม่มีเอกสารทางกฏหมาย ทั้งหมายศาลหรือหมายค้น โดยทางฝั่งเจ้าหน้าที่ยอมรับกับชาวบ้านว่า ได้บุกรุกเข้าไปในบ้านของชาวบ้านจริง เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหรือไม่ที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหสถาน โดยไม่มีหมายใดๆ เป้าหมาย 5 จุด แต่เข้าได้อยู่ 4 ชุด จึงเกิดเรื่องขึ้น ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.30- 15.00 น. ในฐานะตนเองที่เป็นชาวบ้านมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีหมายใดๆ แต่เข้าไปในเคหสถาน โดยไม่แจ้งชาวบ้านไว้ล่วงหน้า จึงอยากให้ทาง ผอ.กมล นวลใย ผู้อำนวยการ สํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เข้ามาในพื้นที่เพื่อมาตกลงพูดคุย แต่คืนนั้นก็ไม่เข้ามา จนกระทั่งนายอำเภอแม่ริม และผกก.สภ. แม่ริม เดินทางมาหลังจากนั้นหน่วย SWAT เข้ามาปิดล้อมชาวบ้านทั้งซ้าย-ขวา จนเกิดภาวะตรึงเครียด ตนเองจึงถูกวานให้เข้าในดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ จนกระทั่งเหตุการณ์จบลงด้วยดี

นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม บอกอีกว่า ขณะเดียวกันในการเจรจาดังกล่าว ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งในตอนนั้นตนก็ได้อยู่ในเหตุการณ์ ที่มีข้อตกลงหลักๆ ด้วยกัน 2 ข้อ โดยข้อแรก ให้ทางหน่วยงานของรัฐ หยุดคุกคามภาคประชาชน และห้ามตัดสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของชาวบ้าน ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์มาแล้ว และปัจจุบันก็ยังไม่ได้คืน อีกทั้งยังมีการตัดกระแสไฟฟ้าและน้ำ และในปัจจุบันก็พยายามที่จะรุกรานเรื่องที่อยู่อาศัย ส่วนข้อที่สอง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ที่มีการพูดถึงมติ ครม. 11 พ.ย.42 ว่าผ่านมา 20 กว่าปี ทำไมถึงไม่มีการดำเนินการ และปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากทางเจ้าหน้าที่ละเว้น มติ ครม. 11 พ.ย.42 มติดังกล่าว “ที่ชาวบ้านอ้างว่าอาศัยอยู่มาก่อนป่าสงวน” โดยมติดังกล่าวก็ให้มาทำการรางวัดพิสูจน์สิทธิ์ ว่าคำกลาวอ้างของชาวบ้านนั้นจริงหรือไม่ และใครที่อยู่หลังป่าสงวนก็ให้ดำเนินการ โดยไม่กระทบกับสิทธิ์ของชาวบ้าน โดยตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการ

ขณะเดียวกัน ตนตั้งข้อสังเกตุว่าภาพข่าวที่ออกไปจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้เอง วางแผนให้เจ้าหน้าที่รัฐลงมาในพื้นที่ และทำให้เกิดการปิดล้อม และใส่ร้ายให้ชาวบ้านม่อนแจ่ม ถูกมองว่าเป็นผู้ที่กระทำไม่ดี โดยเชื่อว่ามีใครบางคนอยู่เบื้องหลัง และไม่เชื่อว่าความยุติธรรมจะมาจากปลายกระบอกปืนได้ หน่วย SWAT ที่มีอาวุธครบมือเข้ามาปิดล้อมชาวบ้านนั้นไม่น่าจะช่วยอะไรได้ และกำลังจะเริ่มนับ 1 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในม่อนแจ่ม โดยเริ่มจากภาครัฐเอง ที่ใช้อาวุธครบมือบุกเข้ามาในพื้นที่ จึงเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง

ขณะที่ทางด้าน นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการ สํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การตรวจสอบการก่อสร้างอาคาร 5 แห่ง ในหมู่บ้านหนองหอยใหม่ บนดอยม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จนถูกชาวบ้านในพื้นที่ชุมนุมล้อมกรอบนั้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงามตามอำนาจหน้าที่ เพราะอาคารทั้ง 5 หลัง อยู่ระหว่างการถูกให้ระงับการก่อสร้างไว้ชั่วคราว ตามข้อตกลงระหว่างการจัดทำแผนแม่บท เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองใช้ประโยชน์ และการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เจ้าหน้าที่ได้หยุดลาดตระเวนตรวจสอบไปนานหลายเดือน แต่กลับพบว่ามีการดำเนินการก่อสร้างอาคารจนเกือบแล้วเสร็จ จึงได้เข้าตรวจสอบรวบรวมข้อมูลว่าผู้ถือครองอาคารที่พักขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่งเป็นใคร ไม่ได้เข้าไปจับกุมใคร

ทั้งนี้การตรวจสอบจะยึดหลักตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่ไม่ให้ขยายพื้นที่เพิ่ม, ไม่ให้ซื้อขายเปลี่ยนมือและอยู่อาศัยตามวิถีชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม พร้อมใช้ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2545 ในการอ้างอิง พบว่าในพื้นที่มีการสร้างที่พักรีสอร์ท 116 ราย และอยู่ในเขตป่าสงวน 113 ราย ซึ่งมี 33 ราย ที่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้ 19 คดี อยู่ในชั้นอัยการสูงสุดกำลังวินิจฉัย ส่วนที่เหลืออยู่ในชั้นอัยการจังหวัดเชียงใหม่ และพนักงานสอบสวน ซึ่งมี 9 ราย จากทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดี ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น