สธ. ห่วงเด็กเกิดน้อยลง หวั่นอนาคต ไม่พอทดแทนวัยแรงงาน ดันนโยบายให้คุณค่ากับเด็ก “เป็นลูกของรัฐบาล”

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการ เด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายบุญเลิศ ค่อนสอาด ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าว “ทางออกประเทศไทย ในยุคเด็กเกิดน้อย” ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กทม.

โดยในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคงหาก ไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง ร้อยละ 12.8 วัยทำงาน ร้อยละ 56.0 ในขณะที่วัยสูงอายุจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 31.2 ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คนซึ่งนับเป็นภาระที่หนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร

นอกจากนี้ จำนวนวัยแรงงานที่ลดลง จะส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และเกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวขาดหายไป ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้โดยรวมแล้ว จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อประเทศในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างประซากร โครงสร้างครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ การแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นการแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าประชาชนจะเลือกอยู่เป็นโสด มีบุตร ไม่มีบุตร เพราะผลกระทบนี้จะส่งผลต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่ไร้ลูกหลาน ผู้สูงอายุดูแลกันตามลำพัง ภาระพึ่งพิงที่มีต่อวัยทำงานสูงขึ้น และเสนอให้รัฐบาลหันมาลงทุนในมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนในเด็ก ซึ่งมีความคุ้มค่าสูงสุดแทนการมุ่งเน้นเรื่องการบริโภคของประชากรแต่ละครอบครัว เพื่อลดความกังวลใจในการเลี้ยงดูบุตร ลดภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพให้กับประชาชน ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการมีบุตรโดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชน ลงทุนในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้การประกาศนโยบายประชากร โดยให้คุณค่ากับเด็กทุกคน “เป็นลูกของรัฐบาล”ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วม และ การเป็นเจ้าของร่วมกัน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น