นกลุ่มแม่น้ำโขงหายไป หลังการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ

นกลุ่มแม่น้ำโขงหายไป หลังการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง

วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ทางทีมงานสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ลงพื้นที่ปากแม่น้ำกก ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้พบแหล่งที่อยู่อาศัย และวางไข่ของนกจาบคาเล็ก ริมฝั่งแม่น้ำกก ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 500 เมตร การสร้างรังของนกเหล่านี้ได้หายไปจากริมฝั่งแม่น้ำโขงไม่ต่ำกว่า 10 ปี การค้นพบพื้นที่ทำรังในครั้งนี้ มีเหลือเพียงจุดเดียวในลุ่มน้ำโขงตอนบนของจังหวัดเชียงรายตอนนี้ เนื่องจากปัญหาตลิ่งพัง และแก้ไขปัญหาตลิ่งพังโดยการเรียงหินป้องกันแนวตลิ่งตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง

ข้อมูล จากงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย พบว่า การเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ระบบนิเวศน์ และความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ และพรรณพืช โดยใช้รูปแบบของงานวิจัยชาวบ้าน หรืองานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีชาวบ้านเข้ามาร่วมเป็นนักวิจัย การเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงได้ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ย่อยทั้ง 11 ระบบนิเวศน์ได้แก่ หาด หนอง แจ๋ม ดอน ร้อง หลง ลำห้วย ริมฝั่ง ผา คก และกว๊าน ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบของระบบนิเวศน์ คก หาดบางแห่งหายไป บางพื้นที่เกิดสันดอน หาด ขึ้นมาใหม่ การเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงของน้ำส่งผลโดยตรงต่อคนหาปลา ที่ปลามีจำนวนน้อย หาปลายากขึ้น บางชนิดพันธุ์แทบไม่พบเจอได้อีกเลย เช่นปลาบึก ปลาเลิม ปลาหว่านอ ปลาตูหนา ไม่สามารถพบได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ย่อยแม่น้ำโขงปัญหาหลักเกิดจากการขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดปกติจากการเปิด-ปิดเขื่อนนั้น ทำให้เกิดการพังทลายริมฝั่ง พื้นที่เกษตรริมโขง ปลามีจำนวน ปริมาณลดลง และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อนกที่อาศัยทำรัง หากินในพื้นที่ระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง จากข้อมูลงานวิจัยชาวบ้านพบนกในแม่น้ำโขงอย่างน้อย 18 ชนิดได้แก่ นกกระแตแต้แว็ด นกกระเต็นปักหลัก นกจาบคาเล็ก นกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล นกเด้าลมอกเหลือง นกเหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก นกเป็ดแดง นกเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย นกกระเต็นอกขาว นกตีนเทียน นกกระแตหาด นกแอ่นทุ่งเล็ก นกยางควาย นกยางกรอกพันธุ์จีน นกกางเขนน้ำหลังดำ นกอุ้มบาตร และนกกระเต็นน้อยธรรมดา การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ ของนกเหล่านี้

นายสุขใจ ยานะ อายุ 72 ปีนักวิจัยชาวบ้าน บ้านเชียงแสนน้อย กล่าวว่า ชาวบ้านเราเรียกว่าปกป่องเป๋ว มีอีกชนิดหนึ่งคือนกนางแอ่นหรือบางคนเรียกว่านกปั่นไหม มาทำรังช่วงน้ำลด เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ขุดรูดินริมฝั่งสูงอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม แต่ก่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบได้ทั่วไปทั้งฝั่งน้ำโขงและน้ำกก เด็กๆสมัยก่อนชอบพากันไปขุดเอาไข่นกมาเล่น ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยไปยุ่งกับนกเหล่านี้ ดูแล้วมันก็เพลินสวยงามดี

นายเกรียงไกร แจ้งสว่าง ทีมงานวิจัยเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า จากการจัดเวทีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ที่ส่งผลต่อนก ในพื้นที่ 10 ชุมชนที่ทำงานวิจัยชาวบ้านร่วมกัน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นกป่องเป๋ว หรือนกจาบคาเล็ก รวมถึงนกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล มักทำรังเจาะรูอยู่ริมตลิ่ง ปัจจุบันได้หายไปจากแม่น้ำโขงแล้ว จากการพังทลายของตลิ่ง และการแก้ไขปัญหาตลิ่งพังโดยการทำพนังกั้นตลิ่งที่นำหินมาเรียงริมฝั่ง ทำให้พื้นที่ทำรังของนกหายไป ตอนนี้ในพื้นที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เราพบพื้นที่วางไข่ของนกจาบคาเล็กเหลือเพียงแห่งเดียว คือบริเวณริมฝั่งปากแม่น้ำกก ซึ่งนกชนิดนี้ได้หายไปจากแม่น้ำโขงตั้งแต่เกิดวิกฤติแม่น้ำโขงท่วมฉับพลันในเดือนสิงหาคมปีพ.ศ.2551 ที่ผ่านมา ต่อมาหน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินโครงการป้องกันแนวตลิ่งพังทำให้พื้นที่วางไข่ของนกหายไป และระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติส่งผลต่อการพังทลายริมฝั่งแม่น้ำ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์บก สัตว์น้ำ และแนวโน้มปัญหาสถานการณ์แม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สัตว์เหล่านี้ไม่มีปากเสียงที่สามารถบอกกล่าวเราทราบได้ งานวิจัยชาวบ้านคือการส่งเสียงของชาวบ้าน เป็นตัวแทนของพืชและสัตว์ที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อบอกต่อกับสาธารณะได้รับรู้

อาจารย์สุทธิ มลิทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า นกที่สร้างรังริมตลิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงราย ที่สำรวจพบมีอยู่ประมาณ 3 ชนิด คือ นกจาบคาเล็ก (Little Green Bee-eater) นกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล (Grey-throated Martin) และนกกระเต็นปักหลัก (Pied Kingfisher) นกทั้ง 3 ชนิดมีพฤติกรรมการทำรังวางไข่ โดยการขุดโพรงลึกริมตลิ่งแม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำอิงและแม่น้ำกก มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ยกเว้นนกกระเต็นปักหลักที่มักพบขุดรูอยู่ลำพัง ดังนั้นการพังของตลิ่งอาจจากโดยธรรมชาติ หรือการทำลายโดยมนุษย์จะส่งผลต่อนกในช่วงทำรัง วางไข่ และเลี้ยงลูกนก ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการขยายเผ่าพันธุ์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาตลิ่งพังโดยการเรียงหินริมฝั่งน้ำ ทำให้นกทั้ง 3 ชนิด ไม่สามารถหาที่ขุดรูทำรังได้ ซึ่งการสูญเสียแหล่งทำรังของนกเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มประชากรของนกและอาจทำให้นกเหล่านี้สูญหายไปจากพื้นที่ อีกทั้งยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่พึ่งพิงพื้นที่ระบบนิเวศริมตลิ่งอีกมากมายด้วย

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสามาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า ปัญหาของตลิ่งพังมัน 2 รูปแบบ แบบแรก เป็นการพังเองตามธรรมชาติจากการกัดเซาะของน้ำ ที่ค่อยๆพังทลายลง เกิดดินตะกอน ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ย่อยเช่นดอน หาด รูปแบบที่สองคือเกิดจากโครงการพัฒนาในแม่น้ำโขง จากการปิด-เปิดของน้ำในเขื่อนในประเทศจีน และจากการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเหนือจังหวัดเชียงราย การที่น้ำขึ้นลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการเร่งการพังทลายของตลิ่ง และการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่ผ่านมาเป็นการระเบิดเอาตัวบังคับทิศทางน้ำหรือฝายชะลอน้ำตามธรรมชาติออกไป ทำให้กระแสน้ำไหลแรงส่งผลโดยต่อการพังทลายของพื้นที่ริมตลิ่ง

การค้นพบแหล่งที่วางไข่ของนกจาบคาเล็ก Little Green Bee-eater ลำตัวสีเขียวสด หัวและท้ายทอยสีส้มแกมน้ำตาล แถบตาดำ ใต้แถบตาสีฟ้า อกมีแถบดำโค้งครึ่งวงกลม หางคู่กลางแหลมยาว เป็นนกประจำถิ่น สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ(IUCN) อยู่ในสถานภาพ มีความเสี่ยงน้อย Least Concerned (LC) การเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงจากน้ำขึ้นลงที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุทำให้ตลิ่งพัง ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนกจาบคาเล็ก นกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล และนกกระเต็นปักหลัก ที่ทำรังและวางไข่ริมฝั่งแม่น้ำ มีพื้นที่ริมฝั่งที่เหมาะกับการทำรังและวางไข่ของนกเพียงไม่กี่แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนจังหวัดเชียงราย อนาคตอันใกล้นกเหล่านี้อาจจะอยู่ในภาวะใกล้ถูกคุกคาม หรือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จากปัญหาการพังทลายริมฝั่ง การถมทำแนวป้องกันตลิ่งพัง ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างรัง และวางไข่ของนกเหล่านี้ก็เป็นได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น