กองกำลังนเรศวรร่วมบูรณาการ ตาก

กองกำลังนเรศวรร่วมบูรณาการ เพื่อการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก

ตามที่ กองกำลังนเรศวร ร่วมกับ จังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก ในด้านต่างๆ เช่น แรงงานภาคการเกษตร, แรงงานภาคอุตสาหกรรม, การลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย และประชากรแฝง ทั้งนี้ที่ผ่านมา ในปี 2565 ได้มีการดำเนินการจัดประชุม รวมทั้งสิ้น จำนวน 5 ครั้ง (ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565

โดยมี พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร และ นาย สมชัย กิจเจริญรุ่งเรือง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการประชุมหารือร่วมหน่วยงานด้านความมั่นคง จังหวัดตาก ครั้งที่ 5/65) โดยมีมติของที่ประชุมฯ เพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้

  1. การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวภาคเกษตรผิดกฎหมาย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับอำเภอ ตามคำสั่งจัดตั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตาก ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมติของที่ประชุม เห็นชอบขับเคลื่อนแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว เข้าสู้กระบวนการนำเข้าแรงงาน ตาม มาตรา 64 โดยจังหวัดตาก จะดำเนินการเสนอลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไปยังหน่วยเหนือ เพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมายเข้าสู้ระบบของภาครัฐต่อไป
  2. การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวภาคอุตสาหกรรมผิดกฎหมาย ในปัจจุบันในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก พบว่ามีผู้ประกอบการบางส่วนได้ดำเนินการดัดแปลงอาคารพานิชย์ เพื่อประกอบกิจการ และหลบเลี่ยงกฎหมาย และกฎกระทรวง ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมติของที่ประชุม เห็นชอบให้ดำเนินการส่งเสริมให้สถานประกอบการที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน ตากกฎกระทรวง เข้าเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบการประกอบกิจการของสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง
  3. การแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการเดินทางข้ามแดนโดยใช้ช่องทางจุดผ่านแดนถาวรทางบกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น มติของที่ประชุมเห็นชอบให้การเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยใช้จุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น ทั้งนี้ในที่ประชุม เสนอเพิ่มเติมในเรื่องของการประสานการปฏิบัติ และเน้นย้ำกับผู้ประกอบการ ที่ดำเนินการขนส่ง สินค้า บริเวณ ช่องทางนอกช่องทางอนุมัติศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 และผู้ประกอบการในฝั่งเมียนมา ห้ามมีการลักลอบข้ามแดนบริเวณช่องทางดังกล่าว หากตรวจพบการฝ่าฝืน จะทำการยกเลิกขอความเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนฯ ในการยกเลิกการอนุญาตประกอบการต่อไป รวมถึงการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงในการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายบริเวณพื้นที่แนวชายแดน
  4. การแก้ไขปัญหาประชากรแฝง จังหวัดตาก/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตาก ได้ทำหนังสือขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคง ในการพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาประขากรแฝง ในพื้นที่ เพื่อขอรับทราบแนวทางการปฏิบัติระดับนโยบาย และนำไปสู่การปฏิบัติในการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้การดำเนินการระดับของผู้ปฏิบัติในปัจจุบันนั้น ได้ดำเนินการสำรวจจัดทำฐานข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพล และยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งบูรณาการกำลังป้องกันชายแดนเพื่อปกป้องอธิปไตย และพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ จะได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้ พี่น้องคนไทยทุกคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติสืบไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
19 พฤษภาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น