ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ วงในภูมิภาคชี้สายบังคับบัญชาสั้นลง เชื่อได้ประโยชน์หลายด้าน

396

 
“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 จัดแถวการศึกษาส่วนภูมิภาค มีผลทันที 22 มี.ค.59 สั่งยุบเลิกเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมและมัธยมทั่วประเทศ เตรียมตั้งศึกษาธิการจังหวัดมาบัญชาการ พร้อมตั้งอีก 13 ศึกษาธิการภาคคอยกำกับ โดยให้ขึ้นตรงต่อปลัดศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่วงในเฮเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาคได้มาก แจงขั้นตอนลดให้กระทรวงสั่งลงภูมิภาคโดยตรง ตัดวงจรอรหันต์ในส่วนกลางที่คอยเตะตัดขาเหี้ยน

 
เมื่อวันที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ทั้งนี้คำสั่ง คสช.ที่ 10/2559 เป็นคำสั่งที่อ้างว่า โดยที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงสภาพปัญหาในการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคของประเทศว่าเกิดจากปัญหาการสั่งการและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการศึกษาให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งดังกล่าวนี้

 
สำหรับคำสั่ง คสช.ที่ 11/2559 ซึ่งเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง โดยในคำสั่งระบุว่า ให้ยกเลิกกฎหมายดังต่อไปนี้ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 27 ก.ย.55 คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 1693/2555 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ลงวันที่ 29 ต.ค.55 คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 1694/2555 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ลงวันที่ 29 ต.ค.55 รวมถึงบรรดาคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการภาคที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

 
คำสั่ง คสช.ที่ 11/2559 ยังกำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน 13 ภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ ตามบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด เพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด โดยการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ๆ และให้มีอำนาจหน้าที่ ในการกำหนดยุทธศาสตร์และบทบาทการพัฒนาภาคต่างๆ ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ นโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ และยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดรวมทั้งการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ ตามศักยภาพและโอกาสของบุคคลและชุมชนในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนา กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ สนับสนุนการตรวจราชการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่รับผิดชอบ ประสานการบริหารงานระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการในระดับพื้นที่ของหลายจังหวัด โดยยึดการมีส่วนร่วมและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับ

 
อีกทั้งยังให้ศึกษาธิการภาคเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสำนักงานศึกษาธิการภาค ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยอาจให้มีรองศึกษาธิการภาค ไม่เกิน 1 คนเพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการภาค ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการภาคจากข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการตามที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเสนอ

 
นอกจากนี้คำสั่ง คสช.ที่ 11/2559 ยังกำหนดให้แต่ละจังหวัด มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด การปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ นโยบาย และยุทธศาสตร์ของส่วนราชการต่างๆ ที่มอบหมาย และให้มีอำนาจหน้าที่ให้รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และการปฏิบัติงานราชการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และตามที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดมอบหมาย ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานด้านวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการในระดับจังหวัด สั่งการ กำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด ให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงาน และกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานในลักษณะตัวชี้วัดร่วมของส่วนราชการหรือหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด และปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงศึกษาธิการ และประสานงานต่างๆ ในระดับจังหวัด นอกจากนี้ยังให้ศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศึกษาธิการภาค โดยอาจให้มีรองศึกษาธิการจังหวัด ไม่เกิน 1 คนเพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการจังหวัด และให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัดจากข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ

 
ที่สำคัญคำสั่ง คสช.ดังกล่าวระบุให้โอนอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
และอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เฉพาะงานที่เกี่ยวกับ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งเท่ากับยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาซึ่ง จ.เชียงใหม่ มีทั้งสิ้น 6 สำนักงานเขต และยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งเชียงใหม่ คือเขต 34 ลงไปด้วย

 
ทั้งนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้เดินทางมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 34 ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าว ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมและมัธยมศึกษาทั่วประเทศในทุกจังหวัดทางกระทรวงศึกษาธิการเรียกประชุมด่วนที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.59 ที่ผ่านมา

 
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลผ่าน “เชียงใหม่นิวส์” ว่า คำสั่ง คสช.ดังกล่าวเป็นการรื้อระบบการบริหารการศึกษาในระดับภูมิภาคลงอย่างสิ้นเชิง เชื่อว่าจะมีคำสั่งออกมาต่อจากนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นที่เคยปรับเปลี่ยนจาก สปจ. มาเป็น สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็มีคำสั่งต่างๆ ตามมามากมาย
“เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับวงการศึกษาในระดับภูมิภาค แต่เดิมที่บริหารกันอยู่มีขั้นตอนต่างๆ มากมายกว่าที่จะดำเนินการได้ การปรับเปลี่ยนตามคำสั่งนี้จะทำให้สายการบังคับบัญชาสั้นลงอย่างมาก จากจังหวัดไปภาค จากภาคไปยังกระทรวงโดยตรง ไม่ต้องมีอรหันต์ในส่วนกลางซึ่งมีอยู่มากมายคอยตัดตกอีก แต่อย่างไรต้องรอคำสั่งที่จะมีออกมาอีกต่อจากนี้จะชัดเจนมากขึ้นว่าโครงสร้างในระดับจังหวัดจะเป็นอย่างไร อย่างเช่นจะมีศึกษาธิการอำเภอหรือไม่” แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น