บทวิเคราะห์ : ชาติพันธุ์ไตลื้อ ที่มาจากเมืองยอง

IMG_0135 เป็นเวลากว่า 211 ปีมาแล้วที่พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนกลุ่มชาวไตลื้อจากเมืองสาด เมืองยอง เมืองปัน เมืองปุ เมืองหาง เมืองต่วน อันถือเป็นช่วงเวลาของการ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ดังที่หลายท่านได้กล่าวอ้างไว้ในประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นของคนจากเมืองยองมาแล้ว

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งไม่ใคร่มีใครพูดถึง ในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองลำพูน ซึ่งเขียนโดยกำธร ธิฉลาด กล่าวถึงพระเจ้ากาวิละได้รวบรวมผู้คนไพร่พลจากเมืองลำปาง 300 คนมาสมทบกับกำลังของพญาจ่าบ้านที่เวียงสะแกงอีก 700 คน มาตั้งมั่นที่เวียงป่าซางเป็นเวลากว่า 14 ปี จนถึงปี พ.ศ.2339 พระเจ้ากาวิละจึงสามารถเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่ได้

เมื่อพระเจ้ากาวิละเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่แล้ว ได้มีความพยายามที่จะขับไล่อิทธิพลของพม่าให้ออกไปจากล้านนา ในปี พ.ศ.2345 เริ่มตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ.2347 ได้เข้าตีเมืองเชียงแสนโดยกองทัพผสมจากเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ลำปาง เวียงจันทน์และเมืองน่าน ชาวเมืองเชียงแสนถูกจับเป็นเชลยจำนวนมากและได้แบ่งเชลยออกเป็น 5 ส่วนกวาดต้อนไปไว้ตามเมืองต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับชัยชนะจากเมืองเชียงแสนแล้ว กองทัพจากเมืองเชียงใหม่ได้ขึ้นไปกวาดต้อนไพร่พลตามเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือเมืองเชียงแสน โดยเข้าไปกวาดต้อนที่เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองมาง เมืองปัน เมืองปุ ฯลฯ ตามนโยบายของพระเจ้ากาวิละที่ต้องการไพร่มาฟื้นฟูเมืองที่รกร้าง อีกประการหนึ่งเพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นฐานที่มั่นมาโจมตีล้านนาอีก

การกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยกำหนดประเภทของไพร่ที่ถูกกวาดต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือหรือไพร่ชั้นดีจะกำหนดให้อยู่ในเมือง เช่น ชาวเขินที่หายยาอพยพมาจากเมืองเชียงตุงมีความเชี่ยวชาญการทำเครื่องเขินให้มาอยู่เชียงใหม่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศใต้ ชาวยวนบ้านฮ่อมที่เชี่ยวชาญการทำดอกไม้กระดาษอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศตะวันออก กลุ่มไตหรือไทใหญ่เชี่ยวชาญด้านการค้าอยู่บริเวณช้างเผือกและช้างม่อย ส่วนไพร่ที่ไร้ฝีมือจะให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมืองและมีชาวยอง(กลุ่มคนที่มาจากเมืองยอง)บางส่วนให้อพยพเข้ามาอยู่ในลำพูน

IMG_0774 - Copyปี พ.ศ.2348 เมื่อเมืองลำพูนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ภายหลังที่คนจากเมืองยองถูกกวาดต้อนมาอยู่มีพระยาบุรีรัตน์คำฝั้น อนุชาของพระเจ้ากาวิละมาครองเมืองเป็นองค์แรก เจ้าบุญมาน้องคนสุดท้ายของตระกูลเจ้าเจ็ดตนเป็นพระยาอุปราชเมืองลำพูน การแบ่งไพร่พลคนจากเมืองยองในการตั้งถิ่นฐานที่ลำพูน เจ้าหลวงคำฝั้นเจ้าเมืองลำพูนให้พญามหิยังคบุรี เจ้าเมืองยองและน้องอีก 3 คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันออกติดกับเมืองลำพูนที่บ้านเวียงยอง ให้ผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยู้ เมืองหลวย ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้มีหน้าที่ทอผ้าให้กับเจ้าเมืองลำพูน

ส่วนคนจากเมืองยองที่เหลือก็ให้อพยพไปเฝ้าที่นาของเจ้าหลวงตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่นาเจ้าหลวงบริเวณทาทุ่งหลวง ที่นาเจ้าป่าซางและที่นาเจ้าหลวงบริเวณประตูป่า

การกวาดต้อนกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อที่มาจากเมืองยองให้เข้ามาอาศัยอยู่ในหัวเมืองล้านนาสมัยนั้นถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะ “ข้าทาษ” ซึ่งปรากฏหลักฐานในรายงานเรื่องทาษ เมืองนครลำพูน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีรัตนโกสินทร์ศก 118 (พ.ศ.2443) ซึ่งพบที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ระบุว่า “เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้านครลำพูน แลเจ้านายบุตรหลานพยาแสนท้าวเมืองนครลำพูน ปฤกษาหารือจัดราชการบ้านเมืองพร้อมด้วยพยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยนั้น เจ้าอินทยงยศโชติเจ้านครลำพูน พร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานพยาแสนท้าวเมืองนครลำพูน ได้ปฤกษาจัดราชการบ้านเมืองกับพระยาศรีสหเทพตามบันทึกวาจาต่อไปนี้คือ ได้พร้อมกันตรวจดูประเพณีที่เปนทาษกันอยู่ทุกวันนี้มีอยู่หลายจำพวกคือ ทาษเชลยเปนคนซึ่งแต่ก่อนมา เจ้านายแลกรมการเมืองลำพูนไปรบตีเมืองเชียงแสน เมืองยอง เมืองปัน เมืองปุ เมืองสาด เมืองต่วน เมืองหาง ได้คนเมืองยองมากกว่าเมืองอื่น ได้แล้วกวาดต้อนครอบครัวมาแบ่งปันเปนบำเหน็จความชอบของแม่ทัพนายกอง เรียกกันว่าค่าปลายหอกงาช้าง มีบุตรหลานสืบต่อมาเรียกว่าค่าหอคนโรง ชื่อว่าทาษได้มาตั้งแต่ครั้งปู้แลบิดาสืบมา ค่าหอคนโรงเหล่านี้อายุตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปคิดเปนชาย ปีละ 6 แถบ หญิงปีละ 6 แถบ ถ้าอายุพ้น 5 ปีขึ้นไปเปนเต็มค่าตัวคือ ชาย 54 แถบ หญิง 72 แถบ จนถึงอายุ 60 จึงจะพ้นทาษ ผู้เปนนายถือว่าเปนกำมสิทธิเด็ดขาด มีอำนาจที่จะขายทาษเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น บรรดาทาษเชลยจะมีบุตรหลานสืบออกไปอีกเท่าใดก็ดีคงเป็นทาษเชลยทั้งสิ้น แลผู้เปนนายก็รับมรฏกกันสืบมา แลผู้ที่เปนมูลนายจะยกทาษเชลยให้แก่ผู้ใดก็ได้ เมื่อทาษเชลยได้นำเงินมาถ่ายค่าตัวตามราคาจึงจะพ้นได้…”

จากหลักฐานที่กล่าวอ้างข้างต้น จึงมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2-3 ประเด็น คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อที่มาจากเมืองยองเข้ามาในฐานะของ “ทาษ” ที่เรียกว่าค่าปลายหอกงาช้าง อยู่ในสถานะที่จำกัด และไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ในสังคม ดังนั้นการสืบทอดทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรมก็ดี ประเพณีพิธีกรรมก็ดี ในช่วงเวลา 200 ปีที่ผ่านมาจึงไม่พบว่ามีสถาปัตยกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อที่มาจากเมืองยองปรากฏในลำพูนแม้แต่แห่งเดียว

การที่มีกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มคนที่กำลังโหยหารากเหง้าของเผ่าพันธุ์ตนเอง ด้วยการพยายามจะเชื่อมโยงวิถีชีวิต สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีในปัจจุบันว่าเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อที่มาจากเมืองยอง ด้วยการออกมาประกาศว่าวัดโน้นวัดนี้ คือสถาปัตยกรรมของกลุ่มคนที่มาจากเมืองยองสร้างไว้เมื่อร้อยกว่าปีจึงเป็นเรื่องที่อุปโลกขึ้น เพราะหากจะถามต่อไปว่าในรอบ 200 ที่ผ่านมามีสถาปัตยกรรมจากวัดใดที่สร้างขึ้นตามแบบของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อบ้าง… ?
ที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวัดก็ล้วนรับอิทธิพลมาจากพม่าทั้งสิ้น หรือคนไตลื้อที่มาจากเมืองยองก็คือ คนพม่า

ที่กล่าวเช่นนี้ผู้เขียนไม่ได้มีอคติกับกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อที่มาจากเมืองยอง เพราะก็ยังมีเพื่อนฝูงมากมายที่สืบเชื้อสายมาจากคนเมืองยอง ทั้งนี้เป็นเพราะว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มกำลังจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ซึ่งมีหลักฐานข้อเท็จจริงปรากฏ ด้วยการพยายามจะสร้างวัฒนธรรมที่ผิด ๆ ขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “วัฒนธรรมประดิษฐ์” ก็คือรูปแบบการแต่งกายของชาวยอง รวมไปถึงการสร้างรูปแบบการฟ้อนของชาวยอง ซึ่งปัจจุบันได้ผสมผสานปนเป จนยากที่แบ่งแยกว่านี่คือรูปแบบการฟ้อนรำและการแต่งกายของชาวยอง จนกระทั่งถึงขนาดมีการกล่าวอ้างว่า เจ้าเหมพินธุ์ไพจิตร เจ้าหลวงเมืองลำพูน ซึ่งเป็นต้นตระกูล “ลังกาพินธุ์” สืบเชื้อสายมาจากคนเมืองยอง

สิ่งที่น่าห่วงยิ่งกว่าการโหยหาอดีตที่ผ่านมาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาจากเมืองยองก็คือ “ความไม่รู้ซึ้งในวัฒนธรรมของตนเองได้ทำลายองค์ความรู้ในด้านวัฒนธรรมที่มีอยู่” นั่นคือ การพัฒนาแบบผิด ๆ ได้เข้ามาทำลายวัฒนธรรมดั่งเดิมที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด ตัวอย่างมีให้เห็นในเรื่องของการครอบงำทางศาสนา เมื่อครั้งที่มหาเขื่อนได้เดินทางเข้ามาศึกษาธรรมะอยู่ในลำพูน แล้วได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เมืองยอง ท่านได้รื้อทำลายสถาปัตยกรรมในวัดอันทรงคุณค่าของกลุ่มชาติไตลื้อที่เมืองยอง ด้วยให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า เก่าโบราณล้าสมัย จากนั้นจึงได้สร้างรูปทรงวิหาร อุโบสถ ตามแบบสถาปัตยกรรมที่ได้พบเห็นจากเมืองลำพูน ในช่วง 40 – 50 ปีที่ผ่านจึงพบว่ามีวิหารวัดในเมืองยองหลายหลังถูกรื้อทิ้งแล้วสร้างของใหม่ขึ้นมาแทน เห็นได้ชัดคือวิหารหลวงวัดราชฐานหัวข่วงเมืองยองเป็นประจักษ์พยานถึงความไม่รู้ซึ้งในวัฒนธรรมของตนเอง อันส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงมาจนถึงปัจจุบัน

หากจะกล่าวว่า ทุกวันนี้ความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากคนเมืองยองในลำพูน คงเหลือเพียง “ภาษาพูด” เท่านั้น ที่กลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากคนเมืองยองรุ่นหลังจะร่วมอนุรักษ์หวนแหนไว้ ไม่ให้สูญสลาย ดีกว่ามานั่งทึกทักโหยหาแต่อดีตที่ผ่านมา แล้วอุปโลกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้คือวัฒนธรรมของคนเมืองยอง
เอกสารประกอบ
รายงานเมืองนครลำพูน ปีรัตนโกสินทร ศก 119 ,โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
กำธร ธิฉลาด ประวัติศาสตร์เมืองลำพูน ,สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองลำพูน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น