สร้างโรงสีข้าวครบวงจร จากพลังงานแสงอาทิตย์

b.5กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา แถลงข่าวความสำเร็จโครงการพัฒนาสร้างโรงสีข้าวแบบครบวงจรขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสมาคมเครื่องจักรกลไทย แถลงข่าว “ความสำเร็จการพัฒนาสร้างโรงสีข้าวแบบครบวงจรขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์” ภายใต้การดำเนินงานของของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดยนายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ถนอมวรสิน ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ดร.รชฏ เชื้อวิโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเปิดตลาดเสรีทางการค้า แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารโดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนในประเทศ ทำให้นโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีในการสนับสนุนในประเด็นของการพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency) ยังคงความสำคัญกับสภาพวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยในภูมิภาคต่างๆ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้เกิดการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบในกระบวนการสีข้าวแบบครบวงจรขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด โดยนำมาใช้ในการสีข้าวเพื่อผลิตข้าวได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรสามารถพึ่งพาตนเอง ทั้งยังเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวของชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคม

เครื่องจักรกลไทย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัทไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ด้วยเห็นถึงประโยชน์จากการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตข้าวของเกษตรไทย ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังให้ความสนใจเนื่องจากเป็นพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างไม่จำกัด โรงสีข้าวพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้พัฒนาขึ้น มีขนาด 6,720 วัตต์ สามารถนำพลังงานมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน เกษตรกรสามารถตากข้าวให้แห้ง สีข้าว และบรรจุข้าวใส่ถุงแบบสุญญากาศ ป้องกันแมลงและมอดข้าวที่สวยงามแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมที่จะนำผลผลิตออกจำหน่าย หรือบริโภคในครัวเรือนได้ทันที ซึ่งโครงการพัฒนาเครื่องจักรที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชน เกษตรกร ในลักษณะนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อสนองนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล และเผยแพร่บทบาทผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้เข้าถึงท้องถิ่นและประชาชนระดับฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า โครงการ “การพัฒนาสร้างโรงสีข้าวแบบครบวงจรขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์” เริ่มต้นจากที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ กับบริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย และเป็นเครือข่ายสมาชิกของสมาคมเครื่องจักรกลไทย ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มาเป็นเวลานาน โดยริเริ่มพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อนำร่องไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินการจัดสร้างโรงเรือน และติดตั้งโรงสีข้าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 6 กิโลวัตต์ กำลังผลิต 20 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สามารถทำงานได้วันละ 5 ชั่วโมง ประกอบด้วย โรงสีข้าว เครื่องสูบน้ำ โดมอบข้าว ไซโลเก็บข้าว และเครื่องบรรจุข้าวใส่ถุงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย ผ่านบริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด มูลค่ารวมประมาณ 920,000 บาท

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิฯ กล่าวอีกว่า โรงสีข้าวพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรขนาดชุมชน วิทยาลัยพลังงานทดแทน จะนำไปใช้ในการวิจัยและจัดการเรียนการสอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก ด้านพลังงานทดแทน ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถนำมาเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับนักศึกษา รวมทั้งใช้เป็นต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนสำหรับชุมชนต่อไป ทั้งนี้ บริษัทไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด มีแผนจะผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในราคาชุดละประมาณ 933,000 บาท (เก้าแสนสามหมื่นสามพันบาท ไม่รวมค่าโรงเรือนและที่ดิน) หรือเฉพาะโรงอบข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาประมาณ 195,000 บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นห้าพันบาท ) ซึ่งหากหน่วยงานหรือเกษตรชุมชนใดสนใจ สามารถเข้าชมเครื่องต้นแบบได้ที่วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
ประสานงานได้ที่ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทรศัพท์ 0 2333 3924 หรือ ติดต่อ Call Center 1313

ร่วมแสดงความคิดเห็น