เปิด-ปิดเทอมพร้อมอาเซียน วันนี้คนต้าน…เสียงค้านเริ่มดัง!! (ชมคลิปความเห็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย – นักศึกษา)

Asean

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเผยผลวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษา ภายหลังการเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน” โดย ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศ (ทปสท.) ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน รวม 48 สถาบัน พบว่า ร้อยละ 86.33 ไม่เห็นด้วยกับการให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเปิด-ปิดภาคเรียนตามแบบอาเซียน ร้อยละ 13.67 เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยตามแบบอาเซียน ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนตามแบบอาเซียน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมและวัฒนธรรมของไทย โดยพบถึง ร้อยละ 62.33 ส่วนที่เหลือร้อยละ 37.67 คิดว่าไม่ส่งผลลกระทบใดๆ


ในกรณีดังกล่าว ผศ.ดร.ธรรมกิตติ์ ธรรมโม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า ข้อดีของการเปิด-ปิดเทอมแบบอาเซียน คือจะช่วยทำให้การแลกเปลี่ยนนักศึกษาง่ายขึ้น เมื่อมีการปิดเทอมหรือเปิดเทอมตรงกันกับต่างประเทศ นักศึกษาของเราก็สามารถไปเรียนต่อบางภาคการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้โดยไม่เสียเวลา สำหรับข้อเสียก็มีมาก ตอนนี้ก็เริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ความไม่สอดคล้องของสภาพภูมิอากาศในประเทศ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ร้อนมาก สภาพการเรียนการสอนของเราก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ตอนนี้ฝ่ายบริหารกำลังพิจารณาและตัดสินใจว่าจะกลับไปใช้การปิดปิดเทอมแบบเดิมหรือไม่อย่างไร แต่ทั้งนี้ก็ต้องฟังเสียงของประชาคมของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วยว่ามีข้อคิดเห็นกันอย่างไร

ด้าน ผศ.บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ กล่าวว่า การเปิดเทอมแบบอาเซียนส่งผลกระทบหลายอย่าง ประเด็นแรกเป็นปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ร้อนมาก ไม่เหมาะกับการเรียนการสอน ที่สำคัญการเรียนการสอนก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ห้องเรียน จะต้องมีการทำกิจกรรม มีการลงพื้นที่ หรือทำกิจกรรมอะไรหลายๆอย่าง สภาพอากาศที่ร้อนจัดจึงไม่เหมาะกับการเรียนการสอนแบบนี้ นอกจากนี้ยังมองไปอีกว่า ในเรื่องการฝึกงานหรือสหกิจถ้าเป็นสาขาที่เกี่ยวกับวิชาชีพครู นักศึกษาที่จะไปฝึกงานในสาขาวิชาชีพนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะช่วงเปิดเทอมกับปิดเทอมของโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนประถมไม่ตรงกันกับช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิดเทอม ปัญหาต่อมาเป็นเรื่องของงบประมาณ ถ้าเป็นหน่วยงานราชการจะประสบปัญหาเรื่องปีงบประมาณ และอีกหนึ่งปัญหาเป็นเรื่องของครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กอยู่ในวัยเรียนแล้วต้องมีการปิดเทอมเปิดเทอมไม่ตรงกับมหาวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งครูอาจารย์ที่อยู่ในสถาบันการศึกษาเอง ก็จะไม่มีโอกาสได้ใช้เวลากับครอบครัวเลย เช่น ลูกปิดเทอมแต่พ่อแม่ต้องทำงานนอกจากนี้คิดว่าเป็นเรื่องการเรียนการสอนที่อาจจะมีเวลาเรียนไม่พอ เพราะฉะนั้นจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปรับเปลี่ยนปิด-เปิดเทอมแบบอาเซียน ให้กลับไปใช้ระบบเดิม

เช่นเดียวกับ ผศ.สุพจน์ เอื้องกุญชร ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวให้ความเห็นว่า การปิด-เปิดแบบอาเซียนในตอนนี้เป็นกระแสค่อนข้างแรง มีหลายฝ่ายเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และหลังจากนั้นก็พบว่ามีอุปสรรคและปัญหามากมาย ทางสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้เห็นว่าประเด็นนี้ยังไม่มีใครคิดจะแก้ไขอย่างจริงจัง เมื่อครั้งที่มีการประชุมสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศซึ่งตอนนั้นมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเจ้าภาพ ก็ได้เสนอประเด็นนี้ขึ้นเป็นวาระการประชุม หลังจากพิจารณาในที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็มีมติอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการทบทวน เพราะว่าพบข้อเสียเป็นอย่างมาก เช่นเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนซึ่งส่งผลกระทบหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดยาว หรือว่าสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือความไม่พร้อมเกี่ยวกับเรื่องปริมาณน้ำที่นักศึกษาจะต้องใช่ร่วมกันในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะพบว่ามีผลกระทบต่อตัวนักศึกษาค่อนข้างมาก ทางการประชุมอธิการบดีที่เป็นต้นคิดในเรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ที่สำคัญบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งรวมของปัญญาชน มหาวิทยาลัยควรจะเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาให้สังคมและประเทศชาติ แต่ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยกลับทำตัวเป็นปัญหาของสังคมและประเทศชาติเสียเอง เช่น ดำเนินการสวนทางกับนโยบายของรัฐบาล 2 นโยบายที่เห็นได้ชัด คือ ดำเนินการสวนทางกับนโยบายการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนและดำเนินการสวนทางกับนโยบายประหยัดน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพราะฉะนั้นเรื่องการปิดเทอมแบบอาเซียนนี้มันควรจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกลับไปใช้แบบเดิม

 

ด้าน รศ.ธีระ วิสิทธิ์พานิช คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังประสบปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำ หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนให้มาอยู่ในช่วงฤดูร้อน ส่งผลให้คนจำนวนหลายหมื่นคนมาร่วมกันอยู่ในช่วงนี้ ทำให้มีการใช้จ่ายน้ำกันอย่างมาก ทั้งการอุปโภคและบริโภค ซึ่งปัญหาเหล่านี้สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการ เปิด-ปิด ภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียน เชื่อว่าขณะเดียวกันนี้จำนวนนักศึกษา ครูบาอาจารย์ จำนวนประมาณ 2 ล้านคน ในระบบอุดมศึกษาไทย จะได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนกันหมด โดยเฉพาะทางภาคอีสานที่น้ำใช้ในการอุปโภคและบริโภค ขาดแคลนอย่างมาก

 

ขณะที่ สุธาสินี คำจันทร์ทิพย์ นักศึกษาสาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนอร์ท เชียงใหม่ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิกการปิดเปิดเทอมตามอาเซียน ส่วนตัวคิดว่าปัญหาแรกที่พบคืออากาศร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าการเปิดปิดภาคเรียนแบบเดิมน่าจะเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรามากกว่า สำหรับปัญหาข้อที่สองคิดว่าการมีวันหยุดยาวเพิ่มมากขึ้นทำให้เรียนได้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนโดยตรง สุดท้ายอยากฝากถึงผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการปิดเปิดเทอมแบบอาเซียนนี้ด้วย

น.ส.นิศา กุมาร อโรร่า นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กล่าวว่า ชอบการเปิดปิดเทอมแบบเดิมมากกว่าแบบอาเซียน เพราะว่าสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลกระทบหลายอย่างในการเรียน อยากให้กลับมาใช้ระบบการเปิดเทอมปิดเทอมเป็นแบบเดิมมากกว่า

 

ด้านนายประสานมิตร สิงห์แก้ว นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศร้อนมาก อากาศร้อนส่งผลกระทบต่อจิตใจมากที่สุด ทำให้เกิดภาวะตึงเครียดความร้อนทำให้สมองของเราทำงานไม่ปกติ อยากให้มีการเปิดเทอมเหมือนตอนเรียนมัธยมมากกว่า

 

สอดคล้องกับความเห็นของ น.ส.ศิริลักษณ์ ยะสาคร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่กล่าวว่า การเปิดปิดเทอมแบบอาเซียนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาเรียน เพราะตอนนี้สภาพอากาศค่อนข้างสูงขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ในการมาเรียนและต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือในช่วงของการสอบท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ขาดสมาธิในการอ่านหนังสือ ทำให้ประสิทธิภาพในการจำของเราลดลง และอีกประเด็นหนึ่งการเปิด-ปิดแบบอาเซียนนี้ทำให้เราไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวเหมือนกับการเปิดเทอมแบบเดิมที่เคยมีมา

ผศ.ดร.บัญญัติ
ผศ.ดร.บัญญัติ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.บัญญัติ มนเทียรอาสน์ เลขาธิการสภาคณบดี สาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย เผยว่าล่าสุดมีมติเอกฉันท์อย่างทางการของที่ประชุมสภาคณบดี สาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย ในคราวประชุมสภาฯ ครั้งที่ 2/2559 วันที่ 29 เมษายน 2559 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ได้ยืนยันในมติเดิม ขอให้ ทปอ. ทบทวนการขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างๆในการเปิด-ปิดเทอมตามระบบอาเซียน โดยมติสภาคณบดีเกษตรแห่งประเทศไทยวันนี้ ขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสภาคณบดี สาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย ที่อยู่ในเวที ทปอ.ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวน 18 มหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการเชื่อมต่อกับอธิการบดีทั้ง 18 ท่าน ให้แสดงทบาทอย่างชัดเจน โดยการ vote ในเวที ทปอ.ว่าควรมีการเปิด-ปิด เทอมแบบระบบอาเซียน หรือ ระบบ
แบบไทย ซึ่งสภาคณบดี สาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังอธิการบดี 18 มหาวิทยาลัย นี้ต่อไป

 

จะเห็นได้ว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนตามแบบอาเซียน มีกระแสที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยสาเหตุปัจจัยหลายประการจึงอยากฝากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ให้กับที่ประชุมอธิการบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณากันต่อ ว่าจะต้องทบทวนอย่างไร จะผลักดันให้กลับมาใช้ระบบเดิม ได้หรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น