แล้งหนัก! เชียงใหม่ น้ำตกห้วยแก้วล่าสุดแห้งขอดต้นไม้โดยรอบทยอยแห้งตาย

แห้งแล้งจัด (1)

วิกฤติหนัก! น้ำตกห้วยแก้วและน้ำตกอีก 3 แห่ง ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เจอทั้งภัยแล้งและไฟป่า ส่งผลให้ความแห้งแล้งทวีความรุนแรง ส่งผลให้ต้นไม้โดยรอบบริเวณน้ำตกที่แห้งขอดเริ่มแห้งตายจากการขาดน้ำคาดว่าแม้ฝนตกตกลงมาต้องใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าจะฟื้นคืนความสวยงาม และธรรมชาติโดยรอบ ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ศูนย์ฝนหลวงภาคเหนือนำฮอบินสำรวจ ชี้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำฝน ยันชาวเชียงใหม่ต้องระมัดระวังเรื่องของน้ำกินน้ำใช้แล้วในขณะนี้

วันที่ 11 พ.ค.59 สถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยสภาพความแห้งแล้ง ประกอบกับอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้เกิดไฟป่าเข้ามาซ้ำเติมกับปัญหาภัยแล้งที่ต้องประสบหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี ก่อนหน้านี้เคยนำเสนอข่าวเรื่องของน้ำตก 4 แห่งของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตั้งแต่น้ำตกห้วยแก้ว น้ำตกมณฑาธาร น้ำตกวังบัวบาน และน้ำตกผาเงิบ แห้งขอดไม่มีน้ำไหลเข้ามาจนต้องปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมผ่านมากว่า 2 เดือน ที่ไม่มีน้ำไหลเข้าเลยแม้จะมีฝนตกสองครั้งแต่ปริมาณน้ำก็ไม่ได้สร้างความชุ่มชื้นหรือทำให้น้ำไหลเข้าน้ำตกทั้ง 4 แห่งเลย เนื่องจากดินมีความแห้งแล้งมากน้ำฝนที่ตกลงมาก็ถูกดูดซึมและระเหยไปอย่างรวดเร็ว

แห้งแล้งจัด (3)ล่าสุดจากการเข้าไปสำรวจที่น้ำตกห้วยแก้วหนึ่งในน้ำตก 4 แห่งอีกครั้งโดยพบว่าสภาพน้ำตกกลายเป็นน้ำตกร้างสภาพทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด ต้นไม้ที่อาศัยน้ำโดยรอบลำธารของน้ำตกห้วยแก้วตอนนี้เริ่มแห้งขยายหนักขึ้นขยายวงกว้างออกไปโดยรอบ ทั้งต้นหญ้า และต้นไม้ใหญ่น้อยแห้งยืนต้นตาย สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่อาศัยน้ำตกเป็นที่อยู่ก็ต้องหายไปด้วยโดยเฉพาะผีเสื้อหลากหลายชนิดที่มีมาก เลยเป็นจุดชมผีเสื้อที่สวยที่สุดจุดหนึ่งของดอยสุเทพก็ต้องหายไปจากความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีการทับถมกันของเศษใบไม้กิ่งไม้แห้ง ซึ่งยังมีความเสี่ยงหากเกิดไฟป่าขึ้นหรือไฟป่าลุกลามมาถึงก็มีโอกาสที่จะลุกลามเข้าไปยังบ้านเรือนของชมชนโดยรอบ ร้านค้าร้านอาหารหรือแม้แต่พื้นที่โดยรอบของลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยได้ อย่างไรก็ตามจากสภาพความแห้งแล้งครั้งนี้แม้ว่าฝนตกตกลงมาจนเพิ่มน้ำได้ในช่วงฤดูฝนแต่การฟื้นฟูสภาพความสวยงามของพื้นที่โดยรอบ และต้นไม้ต่างๆ ก็เชื่อว่าจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปีกว่าธรรมชาติจะฟื้นคืนความสวยงามขึ้นมาได้อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันเดียวกันนี้ นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้นำฮอของกระทรวงเกษตรที่มาปฏิบัติภาระกิจฝนหลวง และดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือขึ้นบินสำรวจแหล่งน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ หลังวพบว่าสถานการณ์ภัยแล้งยังรุนแรง ที่ผ่านมาฝนยังไม่ตกหนักจนสามารถช่วยสร้างความชุ่มชื้นหรือเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ได้ รวมทั้งสภาพอากาศยังมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการสร้างฝนหลวงได้ในช่วงนี้ แต่ทางภาคเฟหนือตอนล่างทั้งกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลกลงไป ศูนย์ฝนหลวงภาคเหนือตอนล่างก็สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ต่อเนื่องในเหนือเขื่อแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่ทางตอนบนยังห่วงเรื่องของสภาพอากาศที่ยังไม่เหมาะสม

S__8536137ทั้งนี้จากการบินสำรวจจากตัวเอง เชียงใหม่พบว่าในแม่น้ำปิงแม้ว่าช่วงตั้งแต่ตำบลป่าแดดขึ้นไปจะมีปริมาณน้ำจากประตูระบายน้ำที่กักน้ำไว้บริหารจัดการ แต่พบว่าตอนบนขึ้นไปก็พบว่าแม่น้ำปิงมีปริมาณน้อยแห้งขอดจนเห็นกลางลำน้ำขนาดเพียงไม่กี่เมตร ส่วนที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง ก็พบภาพที่น่าตกใจกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับสภาพเขื่อนที่แห้งขอดลงไปเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตร ซึ่งเหลือน้ำอยู่ในที่ลึกลงไปเป็นร่องน้ำปริมาณ 1ใน 10 ส่วน ของร่องรอยที่เคยมีการกักเก็บน้ำไว้ ที่เหลือจะเห็นเป็นเนินดิน ตอไม้ ที่เคยอยู่ใต้น้ำโหล่ออกมาให้เห็น ส่วนแพท่องเที่ยวที่เคยอยู่ลึกเข้าไปหลายกิโลเมตร ก็ต้องถอนหมุดเคลื่้อนย้ายเข้ามาให้กับแนวสันเขื่อนที่ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง สภาพดังกล่าวสะท้อนให้ชาวเชียงใหม่ในตอนนี้ต้องตระหนักถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่คุกตามเข้ามาใกล้ตัวแม้ว่าแหล่งน้ำจะอยู่ไกลออกไปจากตัวเมืองแต่น้ำจากเขื่อนแม่งัดถือเป็นแหล่งน้ำสุดท้ายที่จะสามารถประทังไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งหรือเหลือใช้ผลิตน้ำประปาได้จนถึงเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น

สำหรับสถานการณ์ของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลล่าสุด จากปริมาณน้ำกักเก็บ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือปริมาณน้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเหลือเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณกักเก็บ และสามารถใช้การได้จริงจำนวน 15 ล้านลูกฐากศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับศูนย์หรือไม่มีน้ำเข้าเลย และในวันนี้ยังต้องปล่อยน้ำออกเพื่อช่วยพื้นที่การเกษตร และผลิตน้ำประปาของเชียงใหม่และลำพูนอีก 4แสน3หมื่นลูกบาศก์เมตร และเมื่อเทียบงบกับปี 2558 ที่ผ่านมาช่วงเวลาเดียวกันเขื่อนแม่งัดยังมีน้ำอยู่ที่ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น