วันต้นไม้..ร้อยใจรวมพลัง พลิกฟื้นคืนผืนป่า สู่ชุมชน

1.jpg ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัยของทรัพยากรธรรมชาติ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นการทำลายมรดกและอนาคตของชาติ

การกำหนดให้ “วันต้นไม้แห่งชาติ” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทย ตระหนัก และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ รู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

5.jpg

ข้อมูลการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ล่าสุด พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียง 108 ล้านไร่ ราวๆ33.8 %ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นป่าสงวนฯในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ 34 ล้านไร่ ถือว่าน้อยมาก สาเหตุจากปัญหาการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้อง ฟื้นฟู ดูแลรักษาสภาพป่าฯ และหนึ่งมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การส่งเสริมการปลูกต้นไม้

วันต้นไม้ประจำปีครั้งแรกของโลกเมื่อร้อยกว่าปีที่สหรัฐอเมริกา ต่อมาแนวคิดนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วยโดยเมื่อปีพ.ศ.2481 กรมป่าไม้เชิญชวนประชาชนร่วมปลูกต้นไม้ในวันชาติซึ่งตรงกับวันที่ 24 มิถุนายนปีพ.ศ.2484 ถือว่าเป็นวันต้นไม้ประจำปีอย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย

2.jpg

จากนั้นในปีพ.ศ. 2503 มีประกาศยกเลิกวันชาติและคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 8 มิถุนายน 2503 กำหนดให้ “วันเข้าพรรษา” เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติแทน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2532 เปลี่ยนแปลงชื่อและกำหนดให้วันวิสาขบูชาของทุกปีเป็น “วันต้นไม้แห่งชาติ” เป็นอีกวันสำคัญของชาติที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า จะได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรป่าไม้เป็นการบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญประโยชน์ อีกทางหนึ่งด้วย

ป่าไม้นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้การจัดการและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ มีความยั่งยืน รัฐบาลได้ประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติช่วงปลายปี พ.ศ. 2528 และวางยุทธศาสตร์ป้องกันป่าเดิม ,ปลูกเสริมป่าใหม่ และ ใส่ใจบำรุงรักษา เน้นการมีส่วนร่วมในแต่ละชุมชนในการปลูกป่า ฟื้นฟู ดูแล รักษาร่วมกัน

แม้บ้านเราจะมีทั้ง วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ วันที่ 14 มกราคม ของทุกปี วันคล้ายวันสถาปนากรมป่าไม้ วันที่ 18 กันยายน ของทุกปี วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี และวันต้นไม้แห่งชาติ ในวันวิสาขบูชาของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม แต่ทว่า”ป่า..และต้นไม้” ก็ถูกบุกรุกทำลาย อย่างต่อเนื่อง

การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อเข้าครอบครองที่ดินเพิ่มสูงขึ้น การกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากระทำไม่ชัดเจน การจัดสร้างสาธารณูปโภคของรัฐเช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เส้นทางคมนาคม กระทั่งไฟไหม้ป่ามักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง

 

4.jpg3.jpg

สิ่งเหล่านี้ท้าทาย อนาคต “ป่า..ต้นไม้”ในไทยว่าจะคงความอุดมสมบูรณ์หรือพลิกฟื้นคืนสู่สภาพ ตามระบบนิเวศน์ได้ทันการณ์หรือไม่รวมพลัง พลิกฟื้นผืนป่า..”ป่าไม้มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”

ฉัตรบวร…เรียบเรียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น