.เครือข่ายจิตอาสา-ซ่อมฝายห้วยแก้ว ตามรอยในหลวง-ไว้เก็บกักน้ำฤดูฝน-หวังให้พ้นที่ชุ่มชื้น…

สร้างฝาย (3)
เครือข่ายตามรอยในหลวง และจิตอาสาเชียงใหม่ ยังคงระดมกำลังต่อเนื่องเร่งมือซ่อมแซมฝาย 23 แห่ง ช่วงกลางของลำน้ำห้วยแก้ว หวังให้เสร็จภายในสุดสัปดาห์นี้หรือก่อนเข้าฤดูฝน เพื่อให้ทันรองรับกักเก็บน้ำช่วยฟื้นลำน้ำห้วยแก้วและผืนป่าดอยสุเทพให้กลับมามีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ระบุหากแล้วเสร็จจะช่วยชะลอและกักน้ำได้ราว 1 แสนลูกบาศก์เมตร
วันที่ 21 พ.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายตามรอยในหลวง พร้อมด้วยประชาชน นักเรียน และนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นจิตอาสากว่า 200 คน รวมทั้งกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 7 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ร่วมกันการขุดลอกตะกอนทรายที่ทับถมและซ่อมแซมฝายต่างๆ ที่อยู่ในลำน้ำห้วยแก้ว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ไหลจากยอดดอยสุเทพลงสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมตามโครงการฟื้นฝายตามรอยในหลวง ที่ทำต่อเนื่องกันมาเป็นประจำทุกช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ตลอดเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ฝายชะลอน้ำที่ตั้งอยู่ตามลำน้ำห้วยแก้วอยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานสำหรับชะลอกักเก็บน้ำและคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า หลังจากที่ในช่วงฤดูแล้งปีนี้ต้องเผชิญปัญหาความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีจนทำให้ลำน้ำห้วยแก้วแห้งขอด โดยมีการระดมกำลังจิตอาสาเข้าร่วมทำกิจกรรมและได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น จากหลายภาคส่วนในการทำกิจกรรมดังกล่าวนี้
สำหรับการดำเนินการตามกิจกรรมครั้งนี้ เบื้องต้นเป็นการดำเนินการขุดลอกตะกอนทรายที่ทับถมและซ่อมแซมฝายในพื้นที่ช่วงกลางของลำน้ำห้วยแก้ว ที่มีฝายจำนวนทั้งสิ้น 23 ฝาย จากทั้งหมดกว่า 300 ฝายตลอดลำน้ำห้วยแก้ว ทั้งนี้ล่าสุดการขุดลอกและซ่อมแซมฝายดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 80- 90% ซึ่งตามแผนงานของเครือข่ายตามรอยในหลวง กำลังพยายามเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในช่วงสุดสัปดาห์นี้หรือก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนเพื่อให้ฝายมีสภาพพร้อมรองรับกักเก็บน้ำ โดยเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วมีการประเมินว่าฝายจำนวนดังกล่าวนี้จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูลำน้ำห้วยแก้วและผืนป่าดอยสุเทพให้กลับมามีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองอีกแหล่งหนึ่งสำหรับหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ในกรณีที่เกิดเหตุความจำเป็นในอนาคต ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมครั้งนี้แล้ว ทางเครือข่ายตามรอยในหลวง ระบุว่าจะยังคงมีการติดตามประเมินผลเพื่อวางแผนงานและต่อยอดดำเนินการต่อไปในอนาคตด้วย.

ร่วมแสดงความคิดเห็น