สร้างหมู่บ้านทำมาค้าขาย เริ่มนำร่องบ้านแม่กำปอง

b.1พาณิชย์สร้างโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย นำร่องใน 10 ชุมชนทั่วไทย เผยแห่งแรกคือ หมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ หลังเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีอาชีพปลูกชา กาแฟ และยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่เตรียมจับมืองมหาวิทยาลัยในพื้นที่พัฒนาแนวทางส่งเสริม

น.ส.วิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้วางเป้าหมายสร้างโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายขึ้น 10 แห่ง โดยแห่งแรกที่จะสามารถเข้าไปดำเนินการคือ หมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีอาชีพปลูกชา กาแฟ และยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรองบประมาณ ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และน่าจะชัดเจนภายในเดือนพ.ค.2559 นี้ จากนั้นก็จะสามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันที

“หมู่บ้านแม่กำปอง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยกันมาหลายครั้งแล้วและได้ตกลงร่วมกันในระดับหนึ่งที่จะเข้าไปพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน แต่ขณะนี้กำลังจะดูว่าจะทำอย่างไรที่จะยังคงอนุรักษ์ หรือคงสภาพความเป็นหมู่บ้านแบบดั้งเดิมไว้ ไม่ให้สังคมสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้ทุกคนเริ่มรู้จักหมู่บ้านแม่กำปอง จุดนี้เองที่ผู้นำหมู่บ้านก็มีความกังวล” น.ส.วิบูลลักษณ์ กล่าว

สำหรับแนวทางในการพัฒนานั้น เบื้องต้นจะร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านและเข้าหาชาวบ้านได้ดี และจะใช้ทักษะต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์เข้ามาพัฒนา เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เข้าไปช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่จะเข้าไปให้ความรู้ทักษะในการจัดทำบัญชีให้แก่สหกรณ์หมู่บ้าน ส่วนกรมการค้าภายใน จะเข้าไปมีหน้าที่ประสานและการเชื่อมโยง สร้างรายได้ให้กับชุมชน

ขณะเดียวกันทางผู้นำหมู่บ้านวิตกกังวลว่าจะมีคนเข้ามาในปริมาณที่มากเกินไปในส่วนนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้หารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงแนวทางการแก้ไข เช่น การคัดคนอย่างไรในการเข้าไปท่องเที่ยว ซึ่งที่หมู่บ้านแม่กำปองนี้จะจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์

อย่างไรก็ตาม กระทรวง ยังได้ติดตามศึกษาแนวคิดการเป็นเมืองแฝดกับเมืองโอโตโย ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่มีการปลูกชา แต่เมืองนี้ก็ยังสามารถรักษาความเป็นตัวตนเดิมของเมืองเอาไว้ได้ อีกทั้งยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชาที่มีความหลากหลาย ส่วนหมู่บ้านปาล์มนั้น จากการที่เราเข้าไปรับฟังว่าทางชุมชนเขาต้องการอะไร

นอกจากนี้หมู่บ้านอื่นที่กระทรวงมองไว้ อาทิ หมู่บ้านปาล์ม ที่อำเภอเชี่ยวหลานจังหวัดสุราษฎร์ธานี หมู่บ้านออร์แกนิค หรือ ออร์แกนิค วิลเลจ ที่จะมี 2-3 แห่ง แห่งหนึ่งเป็นหมู่บ้านผ้าทอ และอีกแห่งกำลังมองไว้คือที่ไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย โดยในส่วนของหมู่บ้านปาล์มที่อำเภอเชี่ยวหลานนั้น มีความต้องการปรับปรุงโรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะเชื่อมโยงทำงานกับทางมหาวิทยาลัยในพื้นที่ด้วย เพราะโครงการนี้ต้องการเข้าไปช่วยพัฒนาหมู่บ้านให้มีความยั่งยืน เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น