ชาวนาพะเยาแห่เลี้ยงปลาขาย สร้างเงินทะลัก!

b.7
ชาวนาพะเยาทิ้งนาข้าว แห่เลี้ยงปลาขาย เผยรายได้ดีกว่าทำนาข้าวถึง 3 เท่าตัว พร้อมเข้าร่วมกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลบ้านต๊ำเมืองพะเยา จำกัด ปลาเศรษฐกิจเมืองพะเยา สร้างรายได้ กว่า 50 ล้านบาท ต่อปี
นายสถิต อ้อยหวาน สมาชิกสหกรณ์เลี้ยงปลาบ้านต๊ำเมืองพะเยา จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เคยทำนาข้าว แล้วหันมาเลี้ยงปลานิลกับทางสหกรณ์ฯ เปิดเผยว่า ตนได้เริ่มเลี้ยงปลานิลมาเกือบ 10 ปีแล้วหลังจากก่อนหน้านี้ทำอาชีพทำนาข้าวแต่รายได้ไม่ดี จึงหันมาเลี้ยงปลากับทางสหกรณ์ฯ โดยเข้าร่วมกลุ่มสหกรณ์ฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยทางสหกรณ์นำพันธุ์ปลามาจากภาคกลาง ซึ่งขณะนี้ตนเองเลี้ยงปลาทั้งหมดจำนวน 15,000 ตัว โดยขั้นตอนการเลี้ยงปลาเริ่มต้นจะนำปลามาอนุบาล 2 เดือน และมาเลี้ยงมาขุนเพิ่มขนาดอีก 4 เดือน รวมใช้ประมาณ 6 เดือน ปลาก็จะสามารถออกจำหน่ายได้ โดย 1 ปีจะจับขายได้ 2 ครั้ง ซึ่งน้ำหนักตัวปลาจะอยู่ที่ 7 ขีดไปจนถึง 1 กิโลกรัม ส่วนการให้อาหารจะให้ตอน 11.00 น.และตอน 15.30 น. 2 เวลาเท่านั้น โดยปัจจุบันตนเองมีรายได้จากการขายปลาตกรอบละ 3 – 400,000 บาท หากคิดเป็น 1 ปี ก็ตกราว 7- 800,000 บาท และเมื่อเทียบกับการทำนาข้าวแล้ว การเลี้ยงปลาสามารถสร้างรายได้ดีกว่าถึง 3 เท่าตัว
ด้านนายสมิง อ้อยหวาน ประธานกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงปลาบ้านต๊ำเมืองพะเยา จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวนาในพื้นที่ตำบลบ้านต๊ำหลายรายหันมาเลี้ยงปลาขายกับทางสหกรณ์เลี้ยงปลาบ้านต๊ำเมืองพะเยา จำกัด เป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังพบว่า การเลี้ยงปลาขายมีรายได้ดีกว่าการทำนาข้าวถึง 3 เท่าตัว โดยวิธีการเลี้ยงปลาของกลุ่มสหกรณ์ฯ จะเลี้ยงแบบธรรมชาติ เน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ และขณะนี้ทางกรมประมงได้รับรองมาตรฐานปลาบ้านต๊ำตามมาตรฐาน GAP แล้ว ซึ่งเป็นปลาตัวใหญ่เนื้อแน่นน้ำหนักดี ที่สำคัญปลอดภัยไร้สารพิษ เพราะเลี้ยงในบ่อน้ำจากธรรมชาติ เช่น น้ำตกจำปาทอง และน้ำตกขุนต๊ำ ความกว้างของบ่อที่เลี้ยงปลานั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1 ไร่ถึง 2 ไร่ต่อ 1 บ่อ โดยส่วนใหญ่แล้ว 1 บ่อ จะใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยจะปล่อยปลานิลลงประมาณ 6,000 ตัว จะได้น้ำหนักปลารวมประมาณ 2-3,000 กิโลกรัมต่อ 1 บ่อ ในวันหนึ่งๆ ก็จะสามารถนำปลาออกจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 4-5 ตัน ขณะที่ในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ ก็จะสามารถจำหน่ายได้วันละเกือบ 6 -7 ตัน โดยราคาจำหน่ายปลาจะเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละประมาณ 55 บาท และแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือเบอร์ 1 และเบอร์ 2 โดยเบอร์1 จะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 60 บาท เบอร์ 2 กิโลกรัมละ 50 -55 บาท โดยขนาดตัวเบอร์ 1 วัดตั้งแต่น้ำหนักตัว 7 ขีด – 1 กิโลกรัม เบอร์ 2 ตั้งแต่ 5 ขีด ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 7 ขีด ซึ่งในวันหนึ่งๆ จะมีเงินในการจำหน่ายปลาเฉลี่ย 300,000 บาท ขณะที่เงินหมุนเวียนกับสหกรณ์รวมถึงสมาชิกก็ตกราวกว่า 100 ล้านบาท โดยในอนาคตทางสหกรณ์จะมีการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางการตลาด เช่น การทำข้าวเกรียบปลา ไส้กรอกปลา ปลาแดดเดียว เป็นต้น
สำหรับสมาชิกสหกรณ์เลี้ยงปลาบ้านต๊ำเมืองพะเยา จำกัด ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2553 ปัจจุบันมีบ่อเลี้ยงปลาของสมาชิก ทั้งหมดประมาณ 330 บ่อ มีสมาชิกทั้งหมด 152 ราย พื้นที่เลี้ยงปลารวม 89 ไร่ มีเงินหมุนเวียนในสหกรณ์กว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากราชการเห็นความเป็นไปได้ ของการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่ได้ผลผลิตน่าพอใจ โดยทางจังหวัดพะเยาให้การสนับสนุนทั้งความรู้และงบประมาณ กระบวนการบริหารสหกรณ์ การส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลในการส่งขายในในพื้นที่และต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ และลำปาง นอกจากนี้ทางจังหวัด ยังได้มีการมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการและการตลาด ตามโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร เพื่อสร้างองค์ความรู้ต่างๆ และยกระดับความสามารถให้กับสหกรณ์เลี้ยงปลาบ้านต๊ำฯ ตามแนวทางประชารัฐด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น