สกู๊ปหน้า 1… “ขัวแขก” สะพานจันทร์สมอนุสรณ์

324583

“สะพานจันทร์สม” เดิมเป็นสะพานที่ไม่มีชื่อ เรียกกันว่า “ขัวกุลา” หรือ “ขัวเก่า” มีประวัติว่า สร้างโดยนายชีค (Cheek) เป็น มิชชันนารี เมื่อปี พ.ศ. 2421 สมัยพระเจ้าอินวิชชยานนท์ ต่อมาได้พังลงเพราะกระแสน้ำ เมื่อ พ.ศ.2475 เดิมที่สะพานนี้เป็นสะพานไม้สักขนาดใหญ่ กว้างพอๆ กับสะพานนวรัฐขณะนั้น เสาสะพานเป็นไม้สักขนาดใหญ่เช่นกัน ในหน้าน้ำหลากจะมีไม้ซุงล่องมา ไม้ซุงขนาดสั้นสามารถลอด ผ่านเสาสะพานไปได้

เมื่อยังไม่มีการสร้างถนนเลียบน้ำปิงที่ตลาดต้นลำไย ปลายสะพานจะยาวมาเกือบถึงร้านวิศาลบรรณาคาร เนื่องจากเมื่อก่อนแม่น้ำปิงกว้าง มาก ต่อมาเมื่อสร้างถนนเลียบน้ำปิง จึงต้องตัดสะพานออกส่วนหนึ่งดังที่เห็นทุกวันนี้ ราวปี พ.ศ.2483 มีการรื้อสะพานเก่าออก เนื่องจากไม้เก่าผุ คาดว่าอยู่ในยุคสมัยหลวงชมา ซึ่งเป็นหัวหน้าสุขาภิบาลเชียงใหม่ ส่วนรองหัวหน้า ก็คือ ขุนโปไลสมัยนั้นยังไม่มีเทศบาล

เมื่อมีรื้อสะพาน “ขัวเก่า” ออกไปแล้ว ทำให้ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำปิงลำบากมากในการสัญจรติดต่อซื้อขาย และแวะเยี่ยมเยียนหากัน สมัยนั้นยังไม่มีสะพานนครพิงค์ การเดินทางข้ามแม่น้ำปิงต้องไปข้ามที่สะพานนวรัฐซึ่งถือว่าไกล ทางเทศบาลเชียงใหม่จึงมีการสร้างเป็นสะพานชั่วคราว สร้างด้วยไม้ ไผ่ทั้งที่เป็นเสา เป็นพื้นสะพานและเป็นคอกสะพานสองด้าน เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “ขัวแตะ”

ต่อมามีผู้บริจาคเงินให้เทศบาลเชียงใหม่ สร้างสะพานคอนกรีตถาวรแทน “ขัวแตะ” ผู้บริจาค คือ นายโมตีราม โกราน่า ชาวอินเดียที่ประกอบอาชีพค้าขายผ้าในเชียงใหม่ ซึ่งเรียกขานกันว่า “นายห้างโมตี” ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น นายมนตรี โกศลาภิรมย์ เจ้าของกิจการร้านขายผ้า เชียงใหม่สโตร์ ซึ่งเป็นร้านขายผ้าที่ใหญ่และมีชื่อในสมัยก่อน

“สะพานจันทร์สม” มีการก่อสร้างแทน “ขัวแตะ” ประมาณปี พ.ศ.2507 หลังจาก นางจันทร์สม ภรรยาของ “นายห้างมนตรี” เสียชีวิตได้ไม่นาน “นายห้างมนตรี” ซึ่งเคยใช้สะพานข้ามแม่น้ำปิงมาตลอดและเห็นความลำบากของชาวบ้านที่เดือดร้อนในหน้าน้ำหลาก และต้องเสียเงินข้ามเรือ อีกทั้งต้องการทำบุญให้ นางจันทร์สม ภริยา จึงบริจาคเงินรวม 2 แสนบาท ให้ทางเทศบาลเชียงใหม่ เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงแทน ขัวแตะ แต่ค่าก่อสร้างสะพานต้องใช้เงินราว 3 แสนบาท หลวงศรีประกาศ นายกเทศมนตรี ขณะนั้น ได้ประกาศเรี่ยไรขอรับบริจาคจากชาวบ้านร้านตลาด ได้เงินมาอีก 1 แสนบาท เพียงพอสำหรับค่าก่อสร้าง จึงดำเนินการก่อสร้างสะพานเมื่อแล้วเสร็จได้ตั้งชื่อสะพานเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ภริยา “นายห้างมนตรี” ว่า “สะพานจันทร์สมอนุสรณ์” หลังจากสร้างสะพานแล้วชาวบ้านจะเห็น “นายห้างมนตรี” มาเดินเล่นไปมาบนสะพานนี้แทบทุกเย็น การทำสะพานจันทร์สมของ “นายห้างมนตรี” ถือว่าคุ้มค่ามากนอกเหนือจากเป็นการระลึกถึงภริยาและเชิดชูนาม “จันทร์สม”แล้ว ยังเกิดกุศลมหาศาลได้ประโยชน์กับผู้อื่นและประชาชนโดยทั่วไปอย่างแท้จริง

222

ในปี พ.ศ. 2554 สะพานมีการปิดซ่อมแซมโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ เนื่องจากตอม่อสะพานทรุดเอียงและจะเป็นอันตรายต่อการสัญจร เทศบาลนครเชียงใหม่จึงทำการปิดทางขึ้นลงของสะพาน แต่ก็ยังมีผู้คนเดินข้ามไปมาอยู่ ทั้งนี้เกรงว่าสะพานจะทรุดพังลงขณะที่มีผู้สัญจร ทน.เชียงใหม่ จึงได้จัดสรรงบประมาณ 8 ล้านกว่าบาท เพื่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนสะพานเดิมที่ทรุดเอียงระหว่างนั้น กรมเจ้าท่าได้ร้องต่อศาลปกครองว่า สะพานนี้สร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีการบุกรุกลำน้ำปิง ศาลได้มีคำพิพากษาให้ระงับการก่อสร้างซ่อมแซมและสั่งให้รื้อถอนตามคำร้องของกรมเจ้าท่า เทศบาลนครเชียงใหม่เห็นว่า สะพานนี้ไม่ได้สร้างขึ้นใหม่ สะพานปัจจุบันมีอายุกว่า 50 ปี และมีประวัติมานานนับร้อยปี จึงยื่นอุทธรณ์ขอสร้างใหม่ ที่สุดศาลปกครองมีคำพิพากษาอนุญาตให้มีการสร้างได้ แต่การก่อสร้างยังประสบปัญหามากมายรวมทั้งมีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน การก่อสร้างสะพานจันทร์สมอนุสรณ์กว่าจะสำเร็จจึงใช้เวลานาน

วันที่ 14 ส.ค.59 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา บริเวณเชิงสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ฝั่งตะวันออก ด้านวัดเกตการาม มีการประกอบพิธีเพื่อเปิดการใช้สะพานจันทร์สมฯ อย่างเป็นทางการ โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้เชิญ พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เป็นประธานเปิดสะพานจันทร์สมอนุสรณ์อย่างเป็นทางการ โดยในพิธีได้ร่วมกับ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายชาตรี เชื้อมโนชาญ นายสุนทร ยามศิริ นายณัฐชูเดช วิริยดิลกธรรม รองนายกเทศมนตรี น.ส.พรฤดี พุทธิศรี ประธานสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ยังมีทายาท “นายห้างมนตรี” ผู้ซึ่งบริจาคเงินสำหรับการก่อสร้างสะพานในอดีต และประชาชนในชุมชนย่านวัดเกต ตลาดวโรรส-ต้นลำไย และประชาชนโดยทั่วไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

111

การก่อสร้างเป็นการก่อสร้างสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ครั้งนี้เป็นการก่อสร้างใหม่ทั้งหมด และยังเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 110 เมตร ก่อสร้างโดย บริษัท แก้วนวรัฐ ( 1999 ) จำกัด สัญญาเริ่มต้น วันที่ 24 มีนาคม 2558 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 27 มกราคม 2559 รวม 310 วัน ด้วยงบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 8,251,000 บาท กระทั่งผู้รับเหมามีการส่งงานให้แก่เทศบาลนครเชียงใหม่ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น