“ใบขับขี่ส่วนบุคคล” ขับปิคอัพขนก๊าซได้

นายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่

ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำรถปิคอัพนำไปบรรทุกวัตถุอันตราย สามารถใช้ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลได้ แต่ตัวรถต้องติดป้ายข้อความเตือนให้ชัดเจน ส่วนกรณีที่เจ้าของรถนำรถไปรับจ้างขนส่งฯ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามประเภท ขณะที่รถส่วนบุคคล น้ำหนักเกิน 2.2 ตัน ต้องขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และนำรถไปจดทะเบียนตามกฎหมาย

นายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนส่ง และพนักงานขับรถเป็นจำนวนมากมีความสงสัยในประเด็นข้อกฎหมายว่า รถที่นำมาใช้บรรทุกขนส่งวัตถุอันตรายประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม กรดอันตราย พนักงานขับรถทุกคันจะต้องใช้ใบอนุญาตขับรถชนิดใดจึงจะถูกต้อง สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ขอชี้แจงว่า

กรณีที่ 1 รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้แก่ รถปิคอัพ ที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม แผ่นป้ายทะเบียนจะมีพื้นสีขาว ตัวอักษรสีเขียว ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร เช่น บษ 1234 เชียงใหม่ บต 4532 เชียงใหม่ การนำรถประเภทนี้มาบรรทุกขนส่งวัตถุอันตราย พนักงานขับรถสามารถใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ขับรถได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ชนิดที่ 4 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามพนักงานขับรถจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เช่น รถที่บรรทุกวัตถุอันตรายต้องมีป้าย ซึ่งมีข้อความ “วัตถุระเบิด” “วัตถุไวไฟ” “ก๊าซอันตราย” ตามชนิดวัตถุที่บรรทุก ตัวอักษรสีแดงสูง 20 เซนติเมตร ความหนาของเส้น 2.5 เซนติเมตร ติดไว้ด้านหน้าและหลังรถ เป็นต้น และเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะกวดขัน ตรวจตรา พิจารณาลงโทษผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว

maxresdefault

กรณีที่ 2 การใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถปิคอัพ) น้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาบรรทุกวัตถุอันตรายจะกระทำได้ก็แต่เฉพาะในกรณีเป็นการใช้รถนั้นในทางการค้าหรือธุรกิจของเจ้าของรถเท่านั้น แต่หากรถนั้นมีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม ก็จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และนำรถนั้นมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก แต่ถ้าหากเป็นกรณีนำรถนั้นไปรับจ้างขนส่งบรรทุกวัตถุอันตราย แม้รถนั้นจะมีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม เจ้าของรถก็จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทขนส่งประเภทไม่ประจำทาง และจดทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติก็จะมีความผิดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้มงวดกวดขันในการใช้รถใช้ถนนให้ทุกคนปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และกฎจราจร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการเดินทาง จะเห็นได้จากการออกตรวจตราตามจุดต่าง ๆของผู้ตรวจการ ตามถนนสายหลัก สายรอง หรือเขตชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือผู้ขับขี่รถทุกท่านได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย สอบถามเพิ่มเติม กลุ่มวิชาการขนส่ง โทร. 0-5327-0411 ต่อ 112

ร่วมแสดงความคิดเห็น