อนาคตการศึกษาไทย ภายใต้นโยบาย คสช.

6 59ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนจากทั่วประเทศ จำนวน 1,719 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2559 ในหัวข้อ “อนาคตการศึกษาไทย ภายใต้นโยบาย คสช.” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนต่อคุณภาพการเรียนการสอนเมื่อเปรียบเทียบกันในแต่ละแห่ง 2) สำรวจปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา และ 3) สำรวจรูปแบบการบริหารและการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนในยุคปัจจุบัน

จากการสอบถามถึงวิชาเรียนที่จำเป็นต่อการเรียนในความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 87.77) คือ วิชาคณิตศาสตร์ อันดับ 2 (ร้อยละ 79.99) คือ วิชาภาษาอังกฤษ อันดับ 3 (ร้อยละ 69.63) คือ วิชาภาษาไทย และเมื่อสอบถามถึงวิชาที่นักเรียนชื่นชอบ พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 69.34) คือ วิชาคณิตศาสตร์ อันดับ 2 (ร้อยละ 44.88) คือ วิชาพลศึกษา อันดับ 3 (ร้อยละ 38.85) คือ วิชาศิลปะ จากการสอบถามถึงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนแต่ละแห่งในปัจจุบันมีความแตกต่างกันหรือไม่ นักเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.92 เห็นว่าคุณภาพการสอนของโรงเรียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน มีเพียงร้อยละ 11.45 ที่เห็นว่าไม่แตกต่างกัน ในขณะที่ ร้อยละ 12.63 ไม่แน่ใจ และเมื่อสอบถามถึงปัจจัยสำคัญ ที่มีผลทำให้คุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันแตกต่างกัน พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 78.17) คือคุณภาพของครูผู้สอน อันดับ 2 (ร้อยละ 64.83) คือ คุณภาพของผู้เรียน อันดับ 3 (ร้อยละ 62.32) คือคุณภาพของหลักสูตรการเรียนการสอน อันดับ 4 (ร้อยละ 59.04) คือ คุณภาพของสื่อการเรียนการสอน และอันดับ 5 (ร้อยละ 36.71) คือ รูปแบบ/วิธีการวัดผลประเมินผลการศึกษา และการสอบคัดเลือก

เมื่อสอบถามถึงรูปแบบของการบริหารงานของกระทรวงศึกษาที่เหมาะสมในความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า ร้อยละ 61.21 เห็นว่าควรเป็นแบบกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาให้แก่ท้องถิ่น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการเปิดโอกาสสำหรับผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล ให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ขณะที่ร้อยละ 38.79 เห็นว่าควรเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจให้ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดและจัดการศึกษา โดยให้เหตุผลว่าเพราะจะทำให้วิธีการศึกษาและการวัดผลประเมินผลจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน พบว่า ร้อยละ 67.89 ต้องการให้ลดเวลาเรียนในห้องเรียน ให้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 20.54 ต้องการให้เสริมกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียนให้มากขึ้น และร้อยละ 11.57 ต้องการให้ใช้เวลาในการเรียนในห้องเรียนให้มากขึ้น

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า นักเรียนมีความต้องการดังต่อไปนี้ 1) ต้องการให้ลดปริมาณการบ้าน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ รวมถึงการลดวิชาเรียนที่ไม่จำเป็นต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย 2) ควรมีการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนคิดด้วยตนเอง ให้อิสระแก่นักเรียนได้คิดและทำในสิ่งที่สนใจ โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ 3) ควรมีการแนะแนวการเรียนต่อมหาวิทยาลัยให้แก่นักเรียน รวมถึงให้คำแนะนำแนวทางที่จะสามารถก้าวไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคต และ 4) ควรมีการพัฒนาคุณภาพครูผู้สอนให้สามารถสอนได้เข้าใจ และมีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี

ร่วมแสดงความคิดเห็น