ส่องศรัทธา คนเมือง@เชียงใหม่ “อาตมา” เสก-สร้างเพื่อโยม…นะจ๊ะ

แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมเปิด ในสิทธิเสรีภาพของความเชื่อและการเคารพนับถือศาสนา แต่พระพุทธศาสนา ดูเหมือนจะเป็นส่วนสำคัญของชีวิต จิตใจผู้คน..ในสังคมไทย เกือบทุกภูมิภาคที่ยังยึดโยง ร้อยรัด ในความศรัทธาต่อวิถีบุญ และความเชื่อทางศาสนาที่ว่า “บุญคือดี บาปคือชั่ว”

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ศรัทธากับความเชื่อ มีเส้นแบ่งที่ ปัญญา ถ้ามีสติ ระลึกรู้ ในหลักธรรม คำสอน ย่อมเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ได้โดยง่าย  ถ้าต่างจากนี้ ก็เปรียบเสมือน บัว 4 เหล่า ต้องให้ปล่อยให้แต่ละชีวิต เวียนว่าย เป็นไป ตามวัฏฏะ

ซึ่งเหล่าสาธุชนิผู้คนที่ยังงมงาย หลงมัวเมา ในกิเลส อยากมี อยากได้ ไหว้วอน ร้องขอ กลุ่มคนเหล่านี้ กลายเป็น “เหยื่อ ในพุทธพาณิชย์” ที่สังคมไทย พยายาม “ปลุกสติ”

ผลวิจัยของ “นิด้า” สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยอีกแหล่งวิทยาการ ระบุข้อมูลที่น่าติดตาม เกี่ยวกับ “การบริหารจัดการเงินของวัดไทย” ช่วงทศวรรษนี้ พบว่ามีเงินฝากในระบบสถาบันการเงินกว่า 3 แสนล้านบาท

หากคำนวณตัวเลขจำนวนวัดทั่วประเทศ 33,902 วัด ( แยกเป็นมหานิกาย 31,890 วัดและธรรมยุต 1,987 วัดที่เหลือเป็นวัดจีน วัดญวน )เป็นพระอารามหลวง 272 วัด เป็นวัดราษฎร 33,630 วัด และที่เป็นวัดร้างมีราวๆ 6,815 แห่ง จะมีตัวเลขเงินในแต่ละวัดราวๆ8-10 ล้านบาท ไม่นับรวมทรัพย์สินอื่นๆที่วัดครอบครอง บริหารจัดการประโยชน์

3.jpg
ที่ตั้งวัด ไม่เป็นอุปสรรค ต่อการเสก สร้าง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บเงินนั้น ผลงานสืบค้นของ “คณะนิสิตฯ ในสายธรรม มจร.เชียงใหม่” ระบุสาระที่น่าสนใจว่า ร้อยละ 70 อยู่ในอำนาจของ”เจ้าอาวาส” และการฝากสถาบันการเงินก็อยู่ในสัดส่วนนี้ วัดที่มีคณะกรรมการมีไวยาวัจกร มีประชาคม รายรอบวัดเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ มีประมาณร้อยละ 13 เท่านั้น รายรับของวัดที่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปีมีไม่ถึง 10 %ของวัดทั่วประเทศ เช่นเดียวกับวัดที่มีรายรับเกิน 50 ล้านบาทต่อปี ก็อยู่ในอัตรานี้

ถ้าเป็นสัดส่วนรายรับ 5 แสนไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มใหญ่ ที่มีประมาณ ร้อยละ 40
ในขณะที่ตัวเลขรายรับเกิน 5ล้านแต่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปีนั้นจะมีราวๆ 20 %

11.jpg
ช่องทางสร้างบุญ.สู่เงินบริจาค ในโครงการต่างๆของวัด ที่ญาติโยม-พุทธศาสนิกชนจะเห็นกันทั่วไปในทุกพื้นที่

แหล่งที่มาของรายรับของวัด มีทั้งเงินบริจาคที่พุทธศาสนิกชนมาทำบุญ เงินบริจาคเฉพาะวัตถุประสงค์ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภัตตาหาร ทุนการศึกษาภิกษุสงฆ์และสามเณร การเรี่ยไร การบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น กฐิน ผ้าป่า งานบุญ งานบวช ฝังลูกนิมิต ปลุกเสกพระ งานวัฒนมงคล(วันเกิด) เป็นต้น

รายได้จากการบริหารจัดการ เช่าที่ ทรัพย์สิน การจัดงานวัด งานเทศกาลต่างๆ ค่าจัดงานศพ รายรับจากการให้เช่าพระวัตถุมงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด ลานจอดรถ หน่วยงานราชการสนับสนุน และอื่นๆ เช่น การเดินสาย เจริญพร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จึงเป็นที่มาของรายรับที่วัดได้จากงานวิจัยระบุคือ 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เมื่อมีรายรับก็ย่อมมีรายจ่าย โดยเฉพาะการก่อสร้าง ซ่อมแซมศาสนสถาน การดูแล พระ-เณร-คนงานในวัด ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมความศรัทธา ไม่ขาดสาย

7.jpg
หากเป็นวัดดังที่เริ่มมีผู้คนแห่ไปทำบุญ ก็มักจะมีปมปัญหาเช่นนี้ให้ตามแก้และส่งผลต่อภาพลักษณ์แวดวงสงฆ์และพระพุทธศาสนา
9.jpg
วัดช่างแต้ม
15.jpg
วัดอู่ทรายคำ
14.jpg
วัดพันเตา

17.jpg

วัดหลายแห่งในเขตนครเชียงใหม่ก็สร้างศาสนสถาน และพยายามจะสร้างพัฒนาวัดในรูปแบบสิ่งปลูกสร้าง ท่ามกลางความเจริญของเชียงใหม่ไม่ใช่เพียงวัดอู่ทรายคำที่กลายเป็นกระแสในวันนี้

แม้บางวัดต้องพยายามขอรับการบริจาคเพื่อทำนุบำรุงวัด สร้างศาสนสถาน แต่ที่วัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ญาติโยมจัดการก่อสร้าง อาคารเพื่อประโยชน์ในวงการสงฆ์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากวัดแต่ละแห่งจะพยายามสร้างจุดดึงดูดและศรัทธาภายในวัด

ยิ่งถ้าไม่ใช่วัดดังๆ เป็นที่สนใจของญาติโยมนัก “อาตมาภาพ” ก็มีความจำเป็นที่ต้องสร้างกระแสให้โดนใจ เช่นที่ปรากฎหลากหลายรูปแบบที่มีให้เห็น ทั้งการก่อสร้างอาคาร สถานที่ “ดุจราวรีสอร์ทธรรม” หรือ “สร้างความหวังในแต่ละงวด” ผ่านกลวิธีการตลาดสอดรับกับสังคมโซเชี่ยล

บางวัดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว บางส่วนอาจไม่ประสบผลสำเร็จทางด้านการตลาด เกิดภาพอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ที่ไม่แล้วเสร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะ”ท่านย้ายวัด” ไปหาทางบุญแห่งใหม่ หรือ “ท่าน” ตัดสินใจไปสวรรค์ ก็ปรากฎเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง “กรรม” จากการกระทำ กลายเป็นข่าวคราวฉาวโฉ่ เช่น กรณี “เณรคำ” พระบางรูปตามที่เห็นๆกันในสื่อฯ

ข้อมูลฝ่ายศาสนสถานและควบคุมทะเบียนวัดสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุจำนวนวัดในเชียงใหม่มี 1,338 วัด เฉพาะในเขตอำเภอเมืองมี 111 แห่ง ในเขตนครเชียงใหม่ทั้งตำบลหายยา ตำบลวัดเกตุ ตำบลช้างคลาน ตำบลช้างม่อย รวมๆแล้วก็ประมาณ 70 วัด อำเภอสันป่าตองมีมากสุด ในจำนวน 25 อำเภอคือมี 100วัด รองลงไปก็สันกำแพงมีประมาณ 84 วัด

ในแต่ละอำเภอจะมีวัดเด่นดัง เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา มีชื่อเสียง จัดอยู่ในเส้นทางบุญที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องเดินทางมากราบนมัสการ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่นั้นๆ เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ , วัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่เป็นกระแสในโลกโซเชี่ยล กับการก่อสร้าง อาคารสูง เบียดบังทัศนียภาพ หอไตร หอธรรม ในวัดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่  จนดูไม่งามตาในมุมมองของพุทธศาสนิกชน (บางกลุ่ม) แม้จะมีข้อโต้แย้งที่แตกต่างกันไป

วันวาน..วันนี้..และในอนาคต “วัด” กับการเสก-สร้างอาคาร-ศาสนสถาน-คอร์สธรรมสัมผัสบุญ และอื่นๆอีกมากมาย ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดต่างๆ ก็ยังคงดำเนินไป เพื่อสืบสานประโยชน์ ก่อเกื้อพระพุทธศาสนาหรือเป็นเพียงสิ่งที่ สร้าง ปัจจัย การบริจาค สู่ทางบุญ “แบบพุทธพาณิชย์”

“เจริญพร ญาติโยม”

โปรดพิจารณาด้วยสติ และปัญญา นะจ๊ะ

ร่วมแสดงความคิดเห็น