ตามรอยอดีต…ในเมืองใหม่ “นครเชียงใหม่”หรือแค่..ของเก่าๆ

ปัญหา “รอยอดีต” ในแต่ละมุม…เมืองประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียน เพื่อปกป้อง ดูแลรักษามรดกอันทรงคุณค่าไว้ได้ ยังไม่เจ็บปวดใจ เท่าปัญหา “สิ่งที่ทรงคุณค่า”เหล่านั้น ทั้งๆที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถาน หรือมีความเด่นชัด ในสิ่งที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์เมืองก็ยังถูกบุกรุกทำลาย

ปรากฎการณ์ ทุบ ทำลาย “แหล่งโบราณสถาน” ทั้งที่ถูกขึ้นทะเบียนฯหรือกำลังอยู่ในขั้นตอน พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ในการรักษา สมบัติของชาติบ้านเมือง ส่วนใหญ่จะพบว่า อยู่กระจุกในเขตที่เป็น”วัด”

“อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย”… พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนิน เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2504

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วม 720 ปี น่าจะเป็นอีกตัวอย่างของ เมืองท่องเที่ยว เชิงประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรม ที่มีปมปัญหา ในการดูแลรักษา อดีตอันทรงคุณค่าที่มีมากมาย กระจัดกระจายอยู่ใน 25 อำเภอ เฉพาะเขตนครเชียงใหม่ แค่เลาะเลียบบริเวณ รอบคูเมือง จะมีร่องรอยประวัติศาสตร์ ซึ่งหนึ่งอย่างที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเมืองเก่ากับเมืองใหม่ ชัดเจน

1-jpg
ภาพเจดีย์เก่าๆ ที่ซุกในซอกอาคาร ตรงข้ามตลาดประตูเชียงใหม่
ขึ้นทะเบียน-วัดเชียงของกู่พม่าบริเวณนี้ สถานะโบราณสถานขึ้นทะเบียนแล้ว ตามราชกิจจานุเบกษา ประมาณ 42 ตารางวา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529
ขึ้นทะเบียน-วัดเชียงของกู่พม่าบริเวณนี้ สถานะโบราณสถานขึ้นทะเบียนแล้ว ตามราชกิจจานุเบกษา ประมาณ 42 ตารางวา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529

ข้อมูลด้านโบราณคดีที่ได้มีการสืบค้น ระบุว่า..ไม่ปรากฎหลักฐานชื่อวัดเชียงของ แต่ในโคลงนิราศหริภุญไชยกล่าวถึงชื่อวัดเชียงของ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ฐานบัวคว่ำรองรับชั้นลูกแก้วย่อเก็จ 2 ชั้น มีเส้นลวดคาดชั้นละ 2 เส้น ชั้นสี่เหลี่ยมหักมุมมีลวดลายปูนปั้นประดับโดยรอบ องค์ระฆัง ปล้องไฉน ปลียอด

ปัจจุบันร้าง มีชุมชนอาคารบ้านเรือนเบียดชิดโบราณสถาน ในการจัดลำดับความโบราณสถาน ระบุเพียงแค่เป็นสิ่งก่อสร้างเดี่ยว ทั้งนี้ ตามขั้นตอน รูปแบบ การบันทึกข้อมูลของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบจะมีรายละเอียดประเภทสิ่งก่อสร้าง แหล่งโบราณคดี-ขุดค้นแล้ว-ยังไม่ขุดค้น-อื่นๆ เช่น จะต้องมีการจัดลำดับคุณค่า , สมบัติชาติ , มรดกทางวัฒนธรรม , อาคารสถานที่อนุรักษ์ , การจัดลำดับศักยภาพการอนุรักษ์ (สูง/ปานกลาง/ต่ำ) การจัดลำดับการอนุรักษ์ (เร่งด่วน/จำเป็นแต่ไม่เร่งด่วน/ยังไม่มีความจำเป็น)

ในการดำเนินงานตาม พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พศ.2542 การถ่ายโอน ภารกิจการบำรุงรักษา ภารกิจดูแลรักษาโบราณสถาน ประเภทที่ดิน ซึ่งตามแบบบันทึกจะมีการระบุกรรมสิทธิ์ ว่าเป็นสิทธิครอบครง ที่ราชพัสดุ ที่ดินเพื่อศาสนา ที่ดินสาธารณะประโยชน์และอื่น ในประเภทการถือครอง มีระบุ สค.2-นส.3 ข. สค.1-นส.3 -นส.3ก-นส.2-นส.5-โฉนดที่ดินและอื่นๆ ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ ผู้ดูแลใช้ประโยชน์
ในแบบบันทึกข้อมูล แหล่งโบราณจะมีช่องให้ระบุว่า ส่วนราชการ กรมธนารักษ์ เอกชน นิติบุคคล สำนักงานพระพุทธศาสนา อื่นๆ

ปรากฎว่าทะเบียน แหล่งโบราณสถาน ส่วนใหญ่ไม่ระบุข้อมูลส่วนนี้

4-jpg
อย่างไรก็ตาม ต้องขออธิบาย และทำความเข้าใจต่อประชาชน และผู้สนใจ ติดตามการปกป้องดูแล รักษา “รอยอดีต-ประวัติศาสตร์” อันทรงคุณค่าของเมืองว่า ที่เห็นเป็นเมืองเก่า เป็นเวียงต่างๆ อาจไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

ยกตัวอย่างเช่น เวียงท่ากาน กลุ่มโบราณสถานตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 30 กิโลเมตร สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 13 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย  ตั้งอยู่ในเขตชุมชนบ้านท่ากาน มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 500 เมตร ยาว 700 เมตร

ปัจจุบันกำแพงเมืองบางส่วนกลายสภาพเป็นคันดิน บางส่วนถูกปรับเป็นถนนภายในชุมชน ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2543 อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่

โบราณสถานภายในเวียงท่ากาน เช่น เจดีย์วัดกลางเมือง ขึ้นทะเบียนเมื่อ18 กันยายน 2522 เจดีย์วัดต้นกอก ขึ้นทะเบียน เมื่อ 1 ธันวาคม 2530

ถ้ามีการขุดค้นก็มีขั้นตอนที่อาจจะต้องขึ้นทะเบียน แต่บางส่วน ที่ปรากฎเป็นร่องรอย หลักฐาน ไม่ว่า วัดอุโบสถ วัดต้นโพธิ์ วัดป่าเป้า วัดไผ่รวก วัดกู่ไม้แดง ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ แต่ทราบกันดีว่า นี่คือสมบัติชาติ มรดกท้องถิ่นที่ชุมชนพยายามสงวนรักษา

ในเขตนครเชียงใหม่ เพียงแค่ 40 ตารางกิโลเมตร มีความพยายามหาช่องทางยกระดับ การขึ้นทะเบียนทั้งเวียงเก่า แต่ทำไม่ได้

ต้องไล่สืบค้น ตรวจสอบ แล้วพิจารณาตามขั้นตอนในแต่ละแหล่ง จนวินาศสันตะโรกัน เช่นที่เห็นในวันนี้ ตราบใด ที่”สิ่งทรงคุณค่า” ในแต่ละแหล่งโบราณสถาน ตามวัดวา อาราม หรือเขตเมืองเก่า ตามแนวกำแพงเมืองชั้นนอก ชั้นใน ยังถูกท้าทายด้วยกระแส เศรษฐกิจ สังคม ที่มอง มูลค่ามากกว่า คุณค่า

ปัญหา การบุกรุกล้ำ ทำลาย ก็ยังคงมีไม่สิ้นสุด ตราบเท่าที่ ” มาตรฐาน ในมาตรการ”จัดการยังมีช่องโหว่ !!
แค่อาคาร ร้านค้า กิจการ ตรงข้ามกับโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง ก็ยังไม่สามารถจัดการอะไรได้

8-jpg
9-jpg

แนวกำแพงดินเชียงใหม่ ที่เห็นๆและชาวเชียงใหม่ตั้งคำถามตามมาว่า พรบ.โบราณสถาน ฯ 2504 ก็ชัดเจน ว่าควรต้อง ดำเนินการอย่างไรต่อไป

คลิกดู : พรบ.โบราณสถานฯ2504

ต่อไป โบราณสถานที่ต่างๆในเวียงเชียงใหม่ และเมืองเก่าๆ คงเก็บซากอดีต ฝังใต้ฐานเมือง (สร้าง) ใหม่ อย่างแน่นอน !!

ร่วมแสดงความคิดเห็น