สกู๊ปหน้า 1…กาดนัดชุมชน วิถีเพื่อพอเพียง

3-jpg คำว่า”ตลาด” โดยคำจำกัดความหมายถึงสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุม เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย และหมายความรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้ สำหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว

“นัด” หมายถึง ตกลงกันเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะกำหนด

“ตลาดนัด” จึงอาจหมายถึง ที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่างๆ ซึ่งมิได้ตั้งอยู่ประจำ จัดให้ มีขึ้นเฉพาะในวันที่กำหนด ในสถานที่ต่างๆทั้งในส่วนเอกชนดำเนินการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดขึ้น

 จะว่าไปแล้ว”ตลาด” หรือ”กาด”ในภาษาพื้นถิ่นภาคเหนือนั้น ในความหมายของบุคคลทั่วไป หมายถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีผู้นำของไปขายแล้ว มีคนมาซื้อ เป็นสถานที่เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการกัน เช่น ตลาดนัดสารภี บริเวณโรงเรียนสารภีวิทยาคม ตลาดนัดแยกสันทราย ใกล้โรงพยาบาลสันทราย กาดนัดทุ่งฟ้าบด สันป่าตอง กาดนัดคาวบอย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

4-jpg

ในตำราเศรษฐศาสตร์ คำว่า ตลาด มีความหมายคือ ตลาดเป็นขอบเขต การขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อและทำความตกลงในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้

ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้เน้นถึงสถานที่ที่ทำการซื้อขายกัน แม้ผู้ซื้อ และผู้ขายจะอยู่คนละมุมโลกโดยติดต่อซื้อขาย กันทางจดหมาย อีเมลล์ สมาร์ทโฟน วิทยุ ฯลฯ

ปัจจุบันตลาดออนไลน์ การซื้อขายไม่ต้องมีตลาด ไม่มีสถานที่ตั้ง แต่เจราจาตกลงกันผ่านโลกโซเชี่ยลฯได้อย่างสุดแสนมหัศจรรย์

และที่น่าสนใจคือ มูลค่าการตลาด บนโลกออนไลน์ มหาศาล จนถึงขั้น หน่วยงานด้านจัดเก็บภาษีกำลังเร่งวางแผนรวบรวม จัดเก็บภาษีการค้าอย่างเป็นระบบในรูปแบเศรษฐกิจดิจิตอล4.0

อย่างไรก็ตาม ในความเป็น ตลาดหรือ กาดนัดชุมชน ในวันนี้ ได้สะท้อนถึงบริบท ความเป็นไปของสังคมบ้านเรา ในแง่การจัดการชุมชน สู่การเปิดพื้นที่เพื่อ สร้างรายได้ สร้างอาชีพในชุมชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดแหล่งค้าขายในรูปแบบ “กาดนัดชุมชน” จะด้วยการลงทุนของเอกชน หรือแม้แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดโครงการ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ได้สร้างโอกาส เพื่อกลุ่มคนที่ต้องการ สร้างเสริมรายได้ และการสร้างอาชีพสู่กลุ่มคนที่สบช่องการค้าขาย ในกาดนัด หรือตลาดนัด

เดิมทีนั้นในช่วงเศรษฐกิจไทย..ยอบแยบ..จนเกิดภาวะฟองสบู่ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จนทำให้เกิดมหกรรม ป้ายทองขายของ มีกลุ่มคนพอมีฐานะ มีอันจะกินส่วนหนึ่ง”ตกอับ” ถึงขั้นต้องนำ ทรัพย์สิน สิ่งของที่เคยซื้อหาไว้ช่วงมีฐานะมาขาย จนสร้างกระแส เลียนแบบไปทั่วสารทิศ

5-jpg

ทั้งนี้วัฒนธรรมเปิดท้ายขายของในกลุ่มชนชาวยุโรป-อเมริกาแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปรากฎการณ์เช่นนี้ ในหมู่คนไทย ถือเป็นเรื่อง น่าอับอายขายหน้าพอสมควร กับภาวะเศรษฐีตกทุกข์ได้ยาก จนต้องมานั่งขายสมบัติเก่าเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในยามย่ำแย่

ต่อมา รูปแบบการค้าแบบง่ายๆเช่นนี้ ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นตามย่านเศรษฐกิจหัวเมือง ย่านสถานศึกษา และขยายออกไปสู่ชนบทชุมชนต่างๆ จนก่อเกิดวัฒนธรรม กาดนัด การเปิดมุมขายสินค้า ทุกสิ่งที่เลือกสรรได้
ทั้งในรูปแบบ กาดนัดเกษตร กาดนัดโอท๊อป กาดนัดสินค้าพื้นเมือง หรือตลาดนัดของเก่า เป็นต้น

นอกจากการต่อยอด กาดนัดชุมชน สู่กิจกรรม เพื่อการท่องเที่ยว ที่มีองค์ประกอบ ด้านวัฒนธรรม ต้นทุนท้องถิ่นเข้ามาเสริมทัพ กับโครงการ กาดกาดหมั้ว กาดนัดงานหัตถศิลป์ งานหัตถกรรม กระทั่ง ถนนคนเดิน ที่สถานที่ต่างๆ ได้กลายเป็นจุดขาย เสริมมนต์เสน่ห์ ให้ท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะท้องถิ่น ชุมชนใด ที่มีพลังความร่วมมือ อย่างเข้มแข็ง และสามารถ สร้างจุดขาย กลายเป็นเสน่ห์ที่โดนใจ ผู้คน ก็อาจกลายเป็น แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ อาทิเช่น ตลาดน้ำอัมพวา ,ตลาดน้ำอโยธยา, หรือแม้แต่ ตลาดน้ำดำเนินสดวก

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ ถ้าจับจ้องมายังเมืองท่องเที่ยว อาทิเช่นเชียงใหม่ก็จะมี ถนนคนเดินท่าแพ ราชดำเนิน ตลาดกลางคืนไนท์บาซาร์ ซึ่งระยะหลังๆเริ่มคลายเสน่ห์ลงไป

บางแหล่งค้าขาย “กาดนัดชุมชน” ก็เป็นอันรู้กัน ในกลุ่มชาวบ้าน ผู้คนในละแวก ใกล้เคียง หรือที่ผ่านไปมา ในย่านนั้นๆเช่น กาดทุ่งเกวียน บนเส้นทางสายเชียงใหม่-ลำปาง, กาดนัดทุ่งฟ้าบด บนเส้นทาง เชียงใหม่-สันป่าตอง หรือแม้แต่ กาดนัดบ๊อกซ์ แลนด์ เยื้องประตูบางเขน ใกล้มหาวิทยาลัย แม่โจ้ ซึ่งจัดขึ้นทุกเย็นวันจันทร์

2-jpg

นอกจากนั้นยังมีกาดนัด ต้นแบบ ในแต่ละอำเภอ ที่ หน่วยงานราชการ พยายามดำเนินการ ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นแหล่งจำหน่าย เป็นตลาดกระจายพืชผลผลิต สินค้า ผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน

จะเห็นได้จากการจัด กาดนัด ย่านหัตถกรรม บ้านถวาย เชียงใหม่ กาดนัดต้นเปา กาดนัดบ่อสร้าง สันกำแพง เป็นต้น บนพื้นฐานความพยายามของหลายๆภาคส่วนที่จะเปิดพื้นที่ การสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงคือ การจัดระบบตลาดนัดชุมชนให้เป็นตลาดนัดชุมชนที่สามารถ สร้างโอกาส สร้างเสริมรายได้ ให้ชุมชน มีมาตรฐานคุณภาพสินค้า และความปลอดภัย ดำรงอยู่ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมด้านราคาและปริมาณ

ให้เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าที่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มชาวบ้าน ที่ไม่อาจมีกำลังจับจ่ายซื้อหาสินค้าตามโมเดิร์นเทรด ให้มีความสุขแบบบ้านๆ ในท่ามกลางกระแสสังคมที่มีความแตกต่าง ในวิถีชีวิต และความเป็นอยู่

แต่มีความสุขแบบบ้านๆได้ ในตลาดชุมชน กาดนัดชุมชน บนวิถีเศรษฐกิจอยู่อย่างพอเพียง

1-jpg

ร่วมแสดงความคิดเห็น