ความเป็นมาของตำรวจล้านนา

s5000199

การกำเนิดของตำรวจยุคแรก พบในสมัยกรุงสุโขทัย สมัยของพระเจ้าลิไทยมีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่รักษากฎหมาย ที่เรียกว่า “สุภาวดี” ต่อมาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งจัดการปกครองเป็นระบบจตุสดมภ์ มีผู้รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน คือขุนเวียง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา งานในหน้าที่ของ “ตำรวจ” นั้นขึ้นต่อขุนเวียง แยกเป็นกรมตำรวจมหาดไทย, กรมกองตระเวน ,กรมพระตำรวจใน ,กรมพระตำรวจใหญ่ และกรมพระตำรวจ หน้าที่เป็นงานรับใช้ส่วนพระองค์ พระมหากษัตริย์และดูแลความสงบเรียบร้อยในเขตพระราชฐาน

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีการพัฒนาหน้าที่ตำรวจให้กว้างขวางขึ้นโดยทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน และได้มอบหมายให้กัปตัน เอส. เย.เบิร์ด.เอมส์ ชาวอังกฤษ เป็นผู้จัดตั้งกองตำรวจขึ้นที่กรุงเทพฯ เรียกว่า “กองโปลิศ” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2403 ระยะแรกจ้างแขกมลายูและแขกอินเดียมาเป็นตำรวจ การแต่งกายสมัยแรกใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน สวมหมวกยอด นายตำรวจนุ่งผ้านุ่ง ส่วนพลตำรวจสวมกางเกง

ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงมีการขยายกิจการของตำรวจมายังหัวเมืองมณฑลต่างๆ เน้นหน้าที่ด้านการปราบปรามโจรผู้ร้าย โดยรัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งให้ ร.อ.จี.เชา ชาวเดนมาร์ก (ต่อมาเป็นหลวงศัลวิทานนิเทศน์ ภายหลังเป็นพระยาวาสุเทพ ตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจภูธร) เดิมรับราชการทหาร มีหน้าที่เป็นเจ้ากรมกองตระเวนหัวเมือง เครื่องแบบตำรวจยุคแรกนั้นใช้ เครื่องแบบสีน้ำเงิน สวมหมวกยอดต่อ มาเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นสีกากี สวมหมวกมีจุก ใช้ผ้าพันแข้งสีน้ำเงิน การเริ่มต้นของ “ตำรวจภูธรมณฑลพายัพและตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่”

s5000212

ส่วนตำรวจภูธรในยุคแรก ๆ นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 มีการตั้งกองตำรวจภูธรขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ เช่น ที่มณฑลพิษณุโลกมีการเกณฑ์ราษฎรมาเป็นตำรวจที่เรียกว่า “พลตะเวน” มาทำการฝึกหัด ทำหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ค่อยปล้นทรัพย์สินของราษฎรและมีไว้ค่อยรักษาความสงบเรียบร้อยภายในมณฑล ขึ้นกับกรมตำรวจภูธร

การเป็นตำรวจในสมัยก่อน คาดว่าแต่ละภาคคงไม่แตกต่างกันมากนัก ในภาคเหนือหรืออดีตเรียกว่า “ตำรวจมณฑลพายัพ” ครอบคลุมจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ต่อมายกเลิกในปี พ.ศ.2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง น่าจะวิเคราะห์แบ่งได้เป็นหลายยุคด้วยกัน อีกทั้งในแง่ตำรวจชั้นประทวนและตำรวจชั้นสัญญาบัตรก็แตกต่างกัน

ยุคต้นใช้วิธีการจ้าง บังคับ ตั้งแต่ พ.ศ.2442 เป็นต้นมา เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มจัดให้มีตำรวจภูธรขึ้น ตำรวจในยุคแรก ๆ ยังไม่มีการเกณฑ์ใช้วิธีการเลือกจากทาส มีหลักฐานว่าทางภาคเหนือเลือกตำรวจมาจากทาส เช่น มีการจัดตั้งตำรวจเมืองแพร่โดยพระยาศรสหเทพ เลือกตำรวจไว้ 25 คน เลื่อนมาจากทาสมาทำหน้าตำรวจ หน้าที่ของตำรวจสมัยนั้นคือ การตระเวนตรวจตราพื้นที่ ทาสที่เป็นตำรวจได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงาน หน้าที่ของทาสตำรวจในยุคนี้ยังไม่เน้นการจับกุมปราบปราม การจับกุมเป็นหน้าที่ของเจ้าเมือง หรือฝ่ายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนนายตำรวจระดับหัวหน้า เชื่อว่าเป็นอำนาจของเจ้าเมืองในการแต่งตั้งผู้เหมาะสม

ในยุคนี้คดีร้ายแรง เช่น ปล้นฆ่า มักเป็นหน้าที่ของผู้ครองนครที่จะมอบหมายให้ผู้ที่ไว้วางใจไปทำหน้าที่ด้านนี้ ดังในปี พ.ศ.2433 ที่เมืองเชียงใหม่เกิดกบฏพญาปราบสงครามที่แขวงสันทราย มีการรวบรวมคนเป็นพันคนเพื่อฆ่านายอากรชาวจีนที่เก็บภาษี เจ้าแก้วนวรัฐนำกำลังไปปราบปรามเอง, พ.ศ.2445 มีคนร้ายคุมพวกเข้าปล้นอำเภอหางดง เจ้าแก้วนวรัฐพร้อมกับพระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว ประยูร อิศรศักดิ์) ข้าหลวงประจำเชียงใหม่ ร่วมออกสืบสวนจับกุมคนร้ายได้ เป็นต้น (จากหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่, 2539,น.164) เจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย (ยุคแรก))

รวมทั้งกรณี พ.ต.อ เจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่) ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ รับมอบหมายให้ไปจับกุมหนานบัญญา คนร้ายปล้นทรัพย์และฆ่าฝรั่งที่มีอาชีพทำไม้สักจนเสียชีวิตที่อำเภอฮอดจนวางแผนจับกุมตัวได้ เป็นต้น นอกจากตำรวจจ้างมาจากทาสแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการรับสมัครคนและจ้างให้เงินตอบแทน

s5000272
ในยุคนี้ ตำรวจระดับหัวหน้าของเมืองเชียงใหม่มาจาก 2 ทาง คือ จากการแต่งตั้งมาจากกรุงเทพฯ เช่น พ.ต.อ. พระยาประกอบรณการ (พร้อม บุญยะพรรค) เป็นผู้บังคับการมณฑลพายัพ เมื่อปี พ.ศ.2452 ต่อมา คือ พ.ต.อ. พระยาพิทักษ์ ทวยหาญ (สือ โทณวณิก) เป็นผู้บังคับการมณฑลพายัพก่อนการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2475 เป็นต้น อีกทางหนึ่งนายตำรวจระดับหัวหน้ามาจากลูกหลานหรือ ญาติของเจ้านายฝ่ายเหนือ ทั้งนี้มีระเบียบให้อำนาจสมุหเทศาภิบาลมณฑลในการแต่งตั้งตำรวจได้ จึงมีการแต่งตั้งบุตรหลานเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีความสามารถเข้าเป็นตำรวจเช่น พ.ต.อ.เจ้าราชวงศ์ บุตรเจ้าหลวงเมืองลำปางมารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการตำรวจมณฑลพายัพ เมื่อปี พ.ศ.2475 ต่อจาก พ.ต.อ. พระยาพิทักษ์ ทวยหาญ (สืบ โทณวณิก) หรือ พ.ต.ต. เจ้าไชยวรเชษฐ์ (มงคลสวัสดิ์ ณ เชียงใหม่ ) ก็เป็นลูกหลานฝ่ายเหนือที่เข้าเป็นตำรวจs5000282

เจ้าไชยวรเชษฐ์ (มงคลสวัสดิ์ ณ เชียงใหม่) ยุคที่สอง ตำรวจมาจากการเกณฑ์แบบทหาร พ.ร.บ. การเกณฑ์แบบทหารเริ่มปี พ.ศ.2448 โดยเกณฑ์ทหารและเกณฑ์ตำรวจไปพร้อม ๆ กัน เมื่อครบ 2 ปี ก็ปลดประจำการส่วนผู้ที่มีความรู้ก็จะรับไว้บ้างบางส่วน และเลือกบางคนมาเป็นตำรวจ

ดังเช่น พ.ต.ท. ศิริ ไชยศิริ อายุ 89 ปี (เสียชีวิต ปี พ.ศ.2546) บ้านอยู่ถนนท่าแพ เป็นตำรวจเมื่อปี พ.ศ.2476 โดยรับการเกณฑ์ทหารที่อำเภอเชียงใหม่ ในวันนั้นจะมีฝ่ายตำรวจมาคัดเลือกตำรวจเกณฑ์ผู้ถูกเกณฑ์มาเป็นตำรวจ 14 คน บรรจุเป็นตำรวจ สภอ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อครบ 2 ปี ได้สมัครเป็นตำรวจต่อ พ.ต.ท ศิริ ฯ เล่าว่าตำรวจก่อนหน้านี้โอนจากทหารมาเป็นตำรวจเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่เป็นครูฝึก เช่น ส.ต.ท สม รุ่งศรี โดยมาจากทหารในกรุงเทพฯ, ส.ต.ท สน ขัตฤกษ์ ทหารจากค่ายกาวิละ เป็นครูฝึกตำรวจ สภอ.เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2476

ยุคที่สาม คือ ทางราชการเปิดรับสมัครโดยกำหนดคุณวุฒิ

ยุคที่สี่ คือ ตำรวจมาจากโรงเรียนที่ผลิตตำรวจ คือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนตำรวจ

s5000209
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น