เขื่อนแม่งัดรอความหวัง เดือนกว่าน่าจะได้น้ำตามเป้า ชี้ทุกฝ่ายต้องช่วยประหยัด

แม่งัดชลประทานเชียงใหม่แจงสถานการณ์น้ำปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องรอประเมินอีกครั้ง 1 พ.ย.59 เป้าแม่งัด 140 ล้านคิว ขณะนี้กักไว้ราว 121 ล้านคิว เชื่ออีกเดือนกว่าๆ น่าจะได้ตามคาด ฝนหนักช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้น้ำเข้าเขื่อนกว่า 10 ล้านคิว ย้ำแม้น้ำมากกว่าปีที่ผ่านมายันผู้ใช้น้ำทุกฝ่ายยังต้องร่วมมือทำตามแผนบริหารจัดการน้ำตามที่กำหนด ภาพรวมน้ำต้นทุนในเขื่อนใหญ่ยังมีแค่ 37.69 เปอร์เซ็นต์ พร้อมแจงเหตุน้ำปิงในตัวเมืองยกระดับขึ้นสูงสาเหตุมาจากฝายเดิมยังอยู่ขวางลำน้ำ ชี้ ปตร.ท่าวังตาลยังระบายน้ำไปเต็มประสิทธิภาพ หากปริมาณน้ำหลากในปริมาณมากส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำทันที

ที่อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยรวมมีน้ำเพิ่มขึ้นในแหล่งน้ำของชลประทานในปริมาณที่มากขึ้น ในแหล่งน้ำขนาดเล็กภาพรวมขณะนี้มีอยู่ราว 38 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งมีอยู่ราว 36 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อง ส่วนแหล่งน้ำขนาดกลางภาพรวมทั้ง 12 แห่ง ขณะนี้มีอยู่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วที่มีอยู่ราว 36 เปอร์เซ็นต์

“เขื่อนขนาดใหญ่จะเห็นค่อนข้างชัดเจน ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราขณะนี้มีปริมาณกักเก็บอยู่ราว 76 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากเดิมซึ่งมีอยู่ราว 74 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงวันถึงสองวันที่ผ่านมาน้ำเข้าเขื่อนแม่กวงฯ ราว 10 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลขณะนี้มีน้ำอยู่ราว 122 ล้าน ลบ.ม. น้ำเข้าเขื่อนแม่งัดฯ ในช่วงวันสองวันที่ฝนตกมีอยู่ราว 10 ล้าน ลบ.ม. ประเด็นสำคัญก็คือ กลุ่มฝนที่เข้ามาเชียงใหม่ในช่วงนี้จะเป็นฝนจากร่องความกดอากาศต่ำ ฝนที่ตกเป็นฝนที่ตกหนักในบางพื้นที่เท่านั้น ยังไม่มีการกระจาย” ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าว

นายเจนศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า ปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำปิงในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา น้ำมีปริมาณค่อนข้างมาก น้ำที่ตกในพื้นที่ก็ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ทำให้แม่น้ำปิงในเขตตัวเมืองเชียงใหม่เท้อขึ้นมาก ซึ่งมาจาก 2 เหตุปัจจัยสำคัญคือ ประตูระบายน้ำท่าวังตาลของชลประทานไม่สามารถบริการจัดการน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากฝายเดิมที่มีอยู่ ทั้งฝายพญาคำ ฝายท่าวังตาล ฝายหนองตุ้ม ยังเป็นฝ่ายที่ขวางทางน้ำอยู่ ทำให้การบริหารจัดการน้ำค่อนข้างลำบาก เพราะเมื่อเปิดประตูระบายน้ำ จะสังเกตได้ว่าบริเวณหน้าประตูระบายน้ำฯ จะมีระดับน้ำต่ำกว่าฝายตัวที่อยู่เหนือประตูระบายน้ำท่าวังตาลขึ้นมาประมาณ 1 เมตรกว่าๆ จึงเป็นปัญหาอยู่ว่าหากน้ำมีในปริมาณที่มากกว่านี้จะมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งต้องระบายน้ำไปทางท้ายน้ำให้ได้เร็วกว่านี้

“โดยความเป็นจริง แต่เดิมฝายบริเวณนี้ควรรื้อออก แต่ปัจจุบันฝายเดิมนี้ยังอยู่ครบ ซึ่งจะเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะช่วงฤดูน้ำหลาก แม้ฤดูแล้งก็เช่นเดียวกันน้ำจะมาเท้อในบริเวณฝายก่อน ตัวประตูระบายน้ำท่าวังตาลมีศักยภาพระบายน้ำได้ในอัตรา 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนอัตราการเท้อกลับจะสูงมาก อย่างช่วงวันที่น้ำหลากมามากซึ่งราว 214 ลบ.ม.ต่อวินาที พบว่าน้ำเกือบปริ่มตลิ่ง หากพร่องน้ำลงมากๆ ก็จะกระทบต่อสถานีสูบน้ำดิบของการประปา ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการบริหารจัดการน้ำที่มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องมาก แต่ประตูระบายน้ำท่าวังตาลสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาทีแน่นอน” นายเจนศักดิ์ฯ กล่าว

สำหรับปริมาณน้ำที่มีขณะนี้กับการคาดการณ์ฝนโดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือคากว่าฝนจะมีอีกราว 2-4 ครั้งในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำช่วงแล้งที่จะปี 2560 หรือไม่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่สามารถผ่านวิกฤติแล้งในปีที่ผ่านมา คาดว่าฤดูแล้งหน้าจะสามารถบริหารจัดการได้ แต่ต้องกำหนดเรื่องของการปลูกพืชให้รัดกุม แม้ว่าน้ำจะเพิ่มมากขึ้นหากแต่ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องการก็ต้องมีการวางแผนแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มให้มีความเข้าใจด้วย
“ที่เขื่อนแม่งัดฯ ปีนี้น่าจะมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้วแน่นอน มีน้ำเข้าเขื่อนวันละหลักล้านขึ้น ซึ่งก็น่าจะเบาใจมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีเวลาที่น้ำจะไหลเข้าเขื่อนอีกราวเดือนกว่าๆ จนถึงกลางเดือนตุลาคม คงจะมีน้ำไหลเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงทางน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการกำหนดเป้าไว้ว่า หากถึงวันที่ 1 ม.ค.60 หากน้ำในเขื่อนมีมากถึง 140 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะง่ายต่อการบริหารจัดการมาก ทั้งเรื่องของการเกษตร และเรื่องน้ำกินน้ำใช้ของจังหวัดเชียงใหม่” ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าว

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับการวางแผนของกรมชลประทานจะกำหนดเริ่มต้นการวางแผนในวันที่ 1 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยจะเริ่มประเมินปริมาณน้ำต้นทุนทั้งหมดที่มีอยู่ จากนั้นก็จะกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้ง แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคมยังมีการใช้น้ำสำหรับข้าวนาปี โดยจะตั้งต้นส่งน้ำและวางแผนอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม

ทั้งนี้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เหลือน้ำ 122.13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.09 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรวม 110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เหลือน้ำ 76.89 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29.24 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน รวม 75 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมมีน้ำราว 37.69 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 12 แห่ง มีน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ 5 แห่ง มีน้ำอยู่ราว 31-50 เปอร์เซ็นต์ 1 แห่ง มีน้ำอยู่ในช่วง 51-80 เปอร์เซ็นต์ 4 แห่ง และมีน้ำมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ 2 แห่ง ภาพรวมมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำราว 40.15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีความจุตั้งแต่ 1 แสน ลบ.ม. มีจำนวน 115 แห่ง ที่มีน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ 53 แห่ง มีน้ำอยุ่ในช่วง 31-50 เปอร์เซ็นต์ 14 แห่ง มีน้ำอยู่ราว 51-80 เปอร์เซ็นต์ 31 แห่ง และมีน้ำมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ 17 แห่ง ภาพรวมมีน้ำอยู่ราว 39.60 เปอร์เซ็นต์ โดยอำเภอที่มีน้ำชลประทานมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 12 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงใหม่ สะเมิง กัลยาณิวัฒนา อมก๋อย เชียงดาว เวียงแหง สันป่าตอง แม่แจ่ม และ อ.แม่ออน

ร่วมแสดงความคิดเห็น