ดึงชุมชนร่วม ศูนย์ขยะดอยสะเก็ด พ่อเมืองเชียงใหม่ให้แนวทาง

2
ตรวจศูนย์กำจัดขยะ………….นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมศูนย์กำจัดขยะ อบจ.เชียงใหม่ ที่ อ.ดอยสะเก็ด พร้อมเสนอแนะ 3 แนวทางให้ อบจ.ไปพิจารณาดำเนินการ ย้ำต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและหากชุมชนได้รับประโยชน์เชื่อความขัดแย้งจะน้อยลง

“ปวิณ” เยือนศูนย์กำจัดขยะดอยสะเก็ด แนะ อบจ.เชียงใหม่ 3 แนวทางสร้างความมั่นใจให้ชุมชน เรื่องแรกแนะจัดหน่วยงานรัฐลงตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมพร้อมให้ตัวแทนชุมชนร่วมตรวจ พร้อมตั้งโจทย์ให้ อบจ.แก้ “ชุมชนรายรอบโรงขยะได้ประโยชน์อะไรบ้าง” แนะให้ทำสัญญาประชาคมหากเกิดปัญหาจะมีแนวทางแก้ปัญหานั้นอย่างไร วาดฝันหากทำได้ทั้ง 3 เรื่องน่าจะสร้างความมั่นใจให้ชุมชนได้ ย้ำชัดต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ฝั่ง อบจ.เชียงใหม่ แจงควักไปแล้วกว่า 17 ล้านบาทปรับปรุงทั้งระบบ พร้อมติดตั้งเพิ่มระบบกำจัดกลิ่น

วันที่ 26 ก.ย.59 เวลา 16.30 น. ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชานนท์ คำทอง ทสจ.เชียงใหม่ นายสมบัติ เฟื่องปรางค์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ นายระพีศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 นายวิจิตร หลังสัน นายอำเภอดอยสะเก็ด กำนันผู้ใหญ่บ้านฯ ผู้บริหารท้องถิ่น ในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด และชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เข้ารับฟังการบรรยายแนวทางการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ อบจ.เชียงใหม่ นำโดย นายอินทร์ศร พรหมมินทร์ รองปลัด อบจ.เชียงใหม่ และผู้แทน บริษัท วีพีเอ็น คอลเล็คชั่น จำกัด เอกชนที่เข้ามารับงานบริหารจัดการขยะรายล่าสุด ร่วมกันบรรยาย

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่มาวันนี้มาตามคำเชิญของ อบจ.เชียงใหม่ที่ต้องการจะนำเสนอแผนการบริหารจัดการศูนย์การจัดการขยะแบบครบวงจร ซึ่งมี อบจ.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพหลัก ทุกคนทราบดีว่าในแต่ละวันจังหวัดเชียงใหม่สร้างขยะได้ราว 1,600 ตัน การจัดการขยะซึ่งเป็นหน้าที่หลักของท้องถิ่นทั้ง 211 แห่ง ซึ่งมีทั้งที่มีการจัดการมีประสิทธิภาพและบางแห่งที่ยังไม่สามารถจัดการขยะได้

“ในภาพรวมทั้งจังหวัดมีการแบ่งการจัดการขยะของจังหวัดเชียงใหม่ออกเป็น 3 โซน โซนเหนือมีอยู่ที่ อ.ฝาง โซนใต้อยู่ที่อำเภอฮอด ส่วนโซนกลางมีการดำเนินการก่อสร้างศูนย์จัดการขยะครบวงจรมาตั้งแต่ปี 2548 เป้าหมายคือการจัดการขยะของจังหวัดเชียงใหม่ได้ในปริมาณ 300 ตันต่อวัน ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ การที่โครงการไม่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการดำเนินการ ซึ่งมีการปิด-เปิดแล้วหลายครั้ง พอ อบจ.จะมาเปิดดำเนินการใหม่ก็มีกระแสการคัดค้าน มีความกังวลทั้งเรื่องกลิ่น คุณภาพสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสีย และประเด็นปัญหาต่างๆ อีกมากมาย” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

“ซึ่งเฉพาะความเห็นของผม ถ้าชุมชนจะยอมให้มีการเปิดดำเนินการใหม่อีกครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องทำ ประการแรกคือ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ต้องเข้ามาตรวจคุณภาพน้ำบาดาล สภาพสิ่งแวดล้อมก่อนการเปิดดำเนินการ ตรวจให้ได้ว่ามีค่าเท่าไร โดยให้มีตัวแทนของชุมชนเข้าร่วมตรวจสอบคุณภาพด้วย และเมื่อเปิดดำเนินการแล้วผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเช่นไรซึ่งจะต้องมีการตรวจอีกครั้ง เรื่องนี้ ทสจ.เชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 กรมความคุมมลพิษ จะเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องเข้ามาดำเนินการ เรื่อง ประการที่ 2 อบจ.หรือเอกชนที่เข้ามาบริหารต้องคิดให้ได้ว่าเมื่อเปิดดำเนินการแล้วชุมชนจะได้อะไรจากโรงขยะนี้บ้าง ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรเชื่อว่าโรงขยะต้องส่งผลกระทบต่อชุมชนแน่นอนไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือเอกชนที่เข้ามาดำเนินการต้องคิดให้ได้ว่า ชุมชนจะได้อะไรบ้างจากโครงการ ทุกคนผลิตขยะแต่ไม่ยอมให้พื้นที่ในชุมชนตนเองเป็นที่กำจัดขยะ เว้นแต่ชุมชนนั้นมีความมั่นใจและได้ประโยชน์ ประการที่ 3 เรื่องใดเป็นข้อกังวลของชุมชน เช่น เรื่องกลิ่น เรื่องน้ำเสีย เรื่องการขนส่ง ประเด็นการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือเอกชนที่เข้ามาดำเนินการโรงขยะนี้ ควรที่จะมีการทำสัญญาประชาคมบางประการกับทางชุมชนในประเด็นนี้ ว่าหากเกิดปัญหาดังที่ว่ามานี้แล้วจะมีแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เชื่อว่าหากแก้ได้ใน 3 ประเด็นที่ว่านี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นธรรมต่อชุมชน” นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ เสนอ

จากนั้น นายอินทร์ศร พรหมมินทร์ รองปลัด อบจ.เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ และผู้แทน บริษัท วีพีเอ็น คอลเล็คชั่น จำกัด นำคณะผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตรวจดูโรงกำจัดขยะซึ่งได้มีการปรับปรุงจะสามารถดำเนินการได้แล้วอย่างสมบูรณ์ โดยที่ก่อนหน้านี้ นายอินทร์ศร พรหมมินทร์ รองปลัด อบจ.เชียงใหม่ นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ศูนย์กำจัดขยะ อบจ.เชียงใหม่ มีพื้นที่รวม 140 ไร่ ในการดำเนินการก่อสร้างได้รับงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ราว 465 ล้านบาทมาดำเนินการก่อสร้าง มีอาคารคัดแยกขยะ โรงงานบรรจุปุ๋ย อาคารสำนักงาน โรงการกำจัด รวมทั้งบ่อบำบัดน้ำเสีย งบประมาณได้รับในปี 2548 พร้อมกับการดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาและเปิดดำเนินการครั้งแรกในปี 2554 กระทั่งปลายปี 2556 ได้ยุติและปิดการดำเนินการ เนื่องจากมีปัญหาในการจัดการขยะกับชุมชน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่น

ศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้รับขยะมาจากพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ออน สันกำแพง ดอยสะเก็ด และ อ.สันทราย ซึ่งปริมาณขยะที่รับเข้ามากำจัดในช่วงแรกเกินกว่า 100 ตันต่อวัน ทั้งนี้ศักยภาพของศูนย์กำจัดขยะสามารถรับปริมาณขยะมากำจัดได้ไม่เกิน 100 ตันต่อวัน ช่วงเวลาหนึ่งจะเกิดปัญหาขยะล้น ที่สุด อบจ.เชียงใหม่ ได้บอกเลิกสัญญากับเอกชนรายที่เข้ามาบริหารจัดการในช่วงแรกนั้นไป พร้อมกับการสรรหาภาคเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารจัดการแทน ซึ่งได้ บริษัท วีพีเอ็น คอลเล็คชั่น จำกัด เข้ามาเป็นดำเนินการ โดยเริ่มว่าจ้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ทั้งนี้บริษัทฯ ต้องเข้ามาปรับปรุงระบบที่มีอยู่เดิมใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเครื่องจักรที่มีอยู่อายุนานกว่า 10 ปี โดยการปรับปรุงครั้งล่าสุดนี้ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่เพิ่มเข้าไปในระบบอีกจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะระบบกำจัดกลิ่น โดยใช้เงินลงทุนในการปรับปรุงระบบไปแล้วกว่า 17 ล้านบาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น