สกู๊ปหน้า1…สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เร่งจัดทำแนวทางดูแลหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงเชื้อซิก้า

ยุง ร้อยเอกภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสซิกาล่าสุดในวันที่ 3 ตุลาคม 2559 จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวนทั้งหมด 16 ราย การจากตรวจหาซิกาในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งสิ้น 872 ราย มีผลเป็นบวก 16 ราย เป็นบุคคลทั่วไป 13 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3 ราย ข้อมูลจากการเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ 3 คนที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่พบรายล่าสุดตรวจพบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นชาย อายุ 33 ปี ซึ่งพักอาศัยในพื้นที่ ตำบลสันนาเม็ง อำเภอสันทราย สำหรับอาการของผู้ป่วยที่พบติดเชื้อไวรัสซิกา ผู้ป่วยทั้ง 16 ราย ส่วนใหญ่ มีไข้ ต่ำๆ ออกผื่น อาการ ดีขึ้น ภายใน 3 – 5 วัน รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขณะนี้อาการเป็นปกติทุกราย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่ โดยในกลุ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยหรือสงสัยว่าติดเชื้อทุกคนจะต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ เพื่อวางแผนการดูแลต่อเนื่อง เร่งสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่ถูกต้อง ขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูลที่ไม่แน่ใจหรือไม่ทราบแหล่งที่มา เพราะจะทำให้เกิดความสับสนได้ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่สำหรับการตรวจพบผู้ป่วย โรคนี้ไม่รุนแรงมากในผู้ที่ร่างกายแข็งแรง แต่ต้องควบคุมโรคให้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพราะอาจเสี่ยงทำให้ลูกพิการได้ พร้อมรณรงค์หญิงตั้งครรภ์ทุกรายเข้าระบบฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการด้านวิชาการ ศึกษาต่อเนื่องให้มีข้อมูลเพียงพอเพื่อจัดทำแนวทางการบริหารจัดการ เช่น หญิงวัยเจริญพันธ์ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อต้องดำเนินการอย่างไร และเด็กที่เกิดมาศีรษะเล็กต้องวางแผนดูแลต่อเนื่องอย่างไร ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพราะจะได้ผลในการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงลายทั้งหมด ที่สำคัญคือโรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยตั้งแต่ วันที่ 3 มกราคม – 2 ตุลาคม 2559 จำนวน 4,100 ราย เสียชีวิต จำนวน 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคืออายุ อายุ 25-34 ปี และอายุ 10-14 ปี ตามลําดับ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่วาง อำเภอเมือง และ อำเภอ สันกำแพง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในที่สุด

ยุงนอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมควบคุมโรคโดย (1) ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองเชียงใหม่ เทศบาลตำบลหนองป่าคั่ง เทศบาลตำบลท่าศาลา เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผู้นำชุมชน และอสม. ในพื้นที่ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และค้นหาผู้ป่วย (2)ทีมควบคุมโรคอำเภอสันทรายประชุม EOC ตำบลสันนาเม็ง (3) ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสันทราย เทศบาลตำบลสันนาเม็ง เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผู้นำชุมชน และอสม. ในพื้นที่ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และค้นหาผู้ป่วย (4)ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงดาว ประชุมแนวทางการควบคุมเฝ้าระวังโรค เทศบาลตำบลเชียงดาวพ่นULV กำจัดยุงพื้นที่โรงพยาบาลเชียงดาว (5)ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอดอยสะเก็ด รพสต.สันปูเลย ร่วมกับเทศบาลตำบลสันปูเลยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พ่นสารเคมี ค้นหาผู้ป่วย

ทั้งนี้พบว่ายุงลายสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ส่วนภาชนะที่พบลูกน้ำบริเวณบ้าน เช่น จานรองกระถาง ยางรถยนต์ แจกันดอกไม้ ภาชนะที่ไม่ใช้แต่มีน้ำขัง รวมทั้งขยะพวกโฟมขวดน้ำ ถุงพลาสติกจึงต้องมีฝาปิดถังขยะไม่ให้มีน้ำขัง อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนร่วมมือร่วมใจกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านพักและชุมชนของตนเอง ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขที่จะร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน เพื่อป้องกันทั้งโรคที่มียุงลายเป็นพาหะได้ทั้งโรคไข้เลือดออกไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น