เทศบาลนครเชียงใหม่จัดรณรงค์ปราบลูกน้ำ-ยุงลาย

4เทศบาล ชม.จับมือภาคีเกี่ยวข้องรณรงค์ให้ความรู้ ป้องกันโรคไข้เลือดออก และไวรัสซิกา พร้อมจัดชุดเจ้าหน้าที่ลงตรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อตัดวงจรพาหะแพร่เชื้อ ขณะที่ทาง สสจ.เชียงใหม่ สรุปยอดผู้ป่วยล่าสุดยังอยู่ที่ 16 ราย และยังคงมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มผู้เสี่ยงติดเชื้อ

เมื่อเวลา09.00 น. วันที่ 9 ต.ค.59 เทศบาลนครเชียงใหม่ฝ่ายสาธารณสุขและพี่น้อง อสม. ร่วมด้วย พันโทสุทัศน์ รัตนประชารมย์ ผู้แทน มทบ.33 ค่ายกาวิละ พร้อมกำลังพลจำนวน 15 นาย พร้อมทั้ง นายสมบัติ รักสกุล ผู้ที่ปั่นจักรยานรอบโลก และชมรมจักรยาน,พันตำรวจโทยุทธสิทธิ์ บุญกล่ำ รักษาการ ผกก.ตำรวจท่องเที่ยวภาคเหนือ นพ.สุรเชษฐ์ อรุโณทอง รอง ผอ.สคร.1 นายสวาท ชลพล หัวหน้ากลุ่มสื่อสารฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิกา การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อลดโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย

นอกจากนี้ ได้มีการแบ่งทีมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์เป็น 4 ทีม ลงพื้นที่ แถวถนนลอยเคราะห์เขตเทศบาลที่เป็นพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมการทำลายแหล่งใส่ทรายกำจัดยุงลาย พ่นจุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำ พ่นULVทำลายตัวแก่ โดยเป้าหมายวันนี้คือกวาดล้างไม่ให้มีเเหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายหลงเหลือในพื้นที่ และวันถัดไปจะมีทีมจาก สคร.1 ชม.ร่วมการสำรวจรอบสอง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและตัดวงจรขยายพันธุ์ของยุงอันเป็นพาหะนำโรค

ทางด้าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอความร่วมมือประชาชนในการโพสต์และแชร์ข้อมูลที่ไม่ทราบแหล่งที่มาเพราะจะทำให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ ขณะเดียวกันได้ เร่งจัดทำแนวทางดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมกำชับทุกอำเภอที่พบการติดเชื้อให้เข้มงวดการกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยสถานที่ที่ยังพบลูกน้ำยุงลายในภาชนะสูง คือ ศาสนสถาน โรงเรียน โรงงานและโรงพยาบาล

ทั้งนี้ จากการตรวจกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสิ้น 872 ราย พบผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งหมด 16 ราย ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 3 ราย อยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่พบรายล่าสุดตรวจพบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นชาย อายุ 33 ปี ซึ่งพักอาศัยในพื้นที่ ตำบลสันนาเม็ง อำเภอสันทราย ส่วนอาการของผู้ป่วยที่พบติดเชื้อไวรัสซิกา ผู้ป่วยทั้ง 16 ราย ส่วนใหญ่ มีไข้ ต่ำๆ ออกผื่นอาการดีขึ้นเป็นปกติทุกราย จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ วันที่ 3 มกราคม – 2 ตุลาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 4,100 ราย เสียชีวิต จำนวน 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคืออายุ อายุ 25-34 ปี และอายุ 10 -14 ปี โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่วาง อำเภอเมือง และ อำเภอสันกำแพง

ร่วมแสดงความคิดเห็น