สกู๊ปหน้า 1…คืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชียงราย

1111 ในปัจจุบันการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย ในพื้นที่ 21 ตำบล 3 อำเภอชายแดนคือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ ยังคงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองจากหลายฝ่ายว่าบทสรุปจะลงเอยอย่างไร เนื่องจากนอกจากจะเป็นจังหวัดที่กำหนดให้มีการจัดตั้งใน 3 พื้นที่พร้อมกันและยังเป็นด่านพรมแดนเชื่อมกับทั้งประเทศเมียนมา สปป.ลาว และเชื่อมไปถึงจีนตอนใต้ รวมทั้งแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายคือ อ.แม่สาย คือร้านค้าปลอดภาษี ธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ศูนย์กระจายสินค้า แสดงสินค้า ประชุมสัมมนา โรงแรม ร้าอาหาร ฯลฯ อ.เชียงแสน เป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรม พื้นที่สุขภาพ โรงแรมและที่พัก ศูนย์การศึกษานานาชาติ ธุรกรรมทางการเงิน และ อ.เชียงของ เป็นนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าระหว่างประเทศคลังสินค้า ห้องประชุมสัมมนา ฯลฯ

กระนั้นแต่ละแห่งก็ประสบปัญหาการจัดตั้งแตกต่างกันเช่นกัน โดย อ.แม่สาย ถูกกลุ่มชาวบ้านที่ทำการเกษตรต่อต้านเพราะเกรงจะสูญเสียที่ดินทำกิน ส่วน อ.เชียงแสน มีปัญหาราคาที่ดิน และที่ อ.เชียงของ ถูกกลุ่มอนักษ์และชาวบ้านต่อต้านจนต้องย้ายพื้นที่จัดตั้งมาแล้วครั้งหนึ่งด้วย ทำให้ล่าสุดทางคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จ.เชียงราย นำโดยนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในฐานะประธานได้มีการประชุมและหยิบยกกรณีความคืบหน้าในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมาหารือเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการระยะหรือเฟตที่ 2 ร่วมกับ จ.กาญจนบุรี จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส ที่กำหนดให้เดินหน้าได้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป

2222นายยรรยง พลสันติกุล โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงราย กล่าวว่าทางจังหวัดมีความคืบหน้าในการจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อการจัดตั้งคือ อ.แม่สาย เป็นที่ราชพัสดุ เลขที่ อ.ชร 1 โฉนดเลขที่ 467 ต.โป่งผา อ.แม่สาย เนื้อที่ 720 ไร่ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนราชพัสดุในนามโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ที่ผ่านมามีประชาชนเช่าที่ทำการเกษตรทำให้ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการประสานงานระหว่างกรมธนารักษ์กับโรงงานยาสูบอยู่ ส่วนที่ อ.เชียงแสน เคยกำหนดจัดตั้งพื้นที่ใกล้ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่บ้านสบกก ต.บ้านแซว เนื้อที่ 651 ไร่ แต่ประสบปัญหามีการเรียกร้องค่าชดเชยที่ดินสูงถึงไร่ละกว่า 1 ล้านบาท ทำให้คณะทำงานได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านได้ข้อสรุปว่าคงจะต้องไปหาพื้นที่อื่นแทน ส่วนที่ อ.เชียงของ หลังจากย้ายไปศึกษาพื้นที่เลี้ยงสัตว์ บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน เนื้อที่ 536 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4-5 หมู่บ้าน ก็มีการเสนอให้ค่าชดเชยแก่ผู้ใช้ประโยชน์ไร่ละ 400,000-500,000 บาทแล้วซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เกี่ยวข้องอยู่ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ศึกษาเรื่องของผังเมืองในพื้นที่จัดตั้งทั้งหมดเพื่อวางผังการพัฒนาและป้องกันเพื่อไม่ให้มีการขยับราคาที่ดินที่สูงเกินไปต่อไป

ด้านนายธีรวัช คำเงิน ประธานสภาเกษตรกร จ.เชียงราย ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมและเป็นกรรมการการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย กล่าวว่าการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในบางพื้นที่ เช่น อ.เชียงของ พบว่าได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการจัดจั้งกลุ่มหรือบริษัทรองรับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ซึ่งพบว่าทางคณะกรรมการหมู่บ้านบางแห่งมีแนวโน้มว่าจะเห็นด้วย โดยเฉพาะการให้เอกชนหรือภาครัฐเข้าไปเช่าหรือร่วมกับภาคประชาชนในการพัฒนาพื้นที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น