เชียงใหม่ประชุมเวทีถนนปลอดภัย ถกมาตรการป้องกันเหตุท้องถนน

s__4489231

เชียงใหม่ จัดประชุมเวทีถนนปลอดภัย สรุปการดำเนินงานและวางมาตรการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2560 ดึง 10 หน่วยงานหลักในพื้นที่ร่วมถก พร้อมเดินหน้าคุมเข้มบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใช้รถใช้ถนนที่ฝ่าฝืนและขับรถโดยประมาท หลังพบสถิติในพื้นที่เชียงใหม่ มีความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงถึง 90 % เฉลี่ยเสียชีวิตเดือนละ 40-50 รายs__4489230

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 11 ต.ค.59 ที่ห้องเพชรรัตน์ ชั้น 3 โรงแรมดิเอ็มเพรส นายธานินทร์ วงศ์รักไทย ผู้จัดการภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พร้อมด้วย นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงใหม่ เป็นประธานในการเปิดโครง การ “เวทีถนนปลอดภัย จังหวัดเชียงใหม่” และการประชุม การบริหารจัดการดำเนินงาน กรณีการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สู่การจัดทำแผนงาน/โครงการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารภัยจังหวัด , ตำรวจภูธรจังหวัด , สาธารณสุขจังหวัด , ขนส่งจังหวัด , แขวงการทางจังหวัด , ทางหลวงชนบทจังหวัด , ประชาสัมพันธ์จังหวัด , มูลนิธิ/สพฉ.ในพื้นที่จังหวัด , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ เทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล , บริษัทกลางฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

โดยการประชุมครังนี้เป็นการจัดประชุมตามที่ทาง รัฐบาลประกาศให้การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเป็น “วาระแห่งชาติ” (มติ ครม. 29 มิ.ย.53) และมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มีเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน เป็นกรอบวางทิศทางและกำหนดมาตร การด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย เรียกว่า “มาตรการ 3 ม. 2 ข. 1 ร.” และกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการบังคับใช้กฎหมาย , ด้านวิศวกรรม , ด้านการให้ความรู้การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม , ด้านการบริการแพทย์ฉุกเฉิน และด้านการประเมินผล

s__4489232 s__4489242ทั้งนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันการรณรงค์ลดอุบัติเหตุนับว่าเป็นแผนแม่บทของชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ปี 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน มีเป้าหมายลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คน ต่อประชากรแสนคนในปี 2563 ครม.ได้รับรองข้อเสนอของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนที่กำหนดให้ประเทศไทยมีแผนการดำเนินงาน “ทศวรรษการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ มากำหนดเป็นมาตรการหลัก 8 ประการ ประกอบด้วย ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย , ลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ , ปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ใช้ความเร็วตามที่กำหนด , แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย , ยกระดับมาตรฐานยานพาหนะให้ปลอดภัย , พัฒนาสมรรถนะของผู้ขับขี่ยานพาหนะ , พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และ พัฒนาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีความเข้มแข็ง

โดยทาง นายธานินทร์ วงศ์รักไทย ผู้จัดการภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เปิดเผยว่า การจัดประชุมในวันนี้เป็นการสรุปผลการดำเนินงานจากทั้ง 10 องค์กร ที่ได้มีการดำเนินงานจากปีที่แล้ว และวางแผนการดำเนินการต่อในปี 2560 ซึ่งทางบริษัทกลางฯ เป็นบริษัทที่มีการจัดจั้งตามกฎหมาย มีหน้าที่รับจ่ายแทนทุกบริษัทประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครอง ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 90 เปอร์เซนต์ ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่มองคือเรื่องของการสวมใส่หมวกนิรภัย และมีโครงการร่วมกับทางจังหวัดในการที่จะรณรงค์และนำหมวกนิรภัยมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน และมีการดำเนินการกิจกรรมร่วมกับกลุ่มนักเรียน ส่วนในกลุ่มของวัยทำงานก็ได้มีมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนที่ประสานงานกับทางองค์กรอยู่

ทั้งนี้บริษัทกลางฯ นั้นรับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับเพิ่มความคุ้มครอง กรณีมีบุคคลเสียชีวิต หรือความสูญเสียจากการใช้รถใช้ถนนจาก 200,000 บาท ไปเป็น 300,000 บาท ดังนั้นอัตราส่วนระหว่างเบี้ยรับกับสิ่งที่ทางบริษัทจ่ายไปมันไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว และสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือเรื่องของการควบคุมความปลอดภัย รวมทั้งอยากประชาสัมพันธ์ให้ทางผู้ใช้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีจำนวนมากที่ไม่ได้มีการจัดทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุมครองผู้ใช้รถ และผู้ประสบภัยเหล่านี้เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิ์บัตรทองในการรักษาได้ และทางโรงพยาบาลจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทันที แต่หากเป็นรถที่มีการจัดทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุมครองผู้ใช้รถ ทางบริษัทกลางฯ ได้มีการประสานงานกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ จะจ่ายแทนผู้ประสบภัย อาทิ 30,000 บาท แรกทางผู้ประสบภัยไม่ต้องสำรองจ่ายและใช้ระบบในการเบิกจ่ายที่เรียกว่า “อิเล็กทรอนิกส์ เคลม” และอยากประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ก่อนจะใช้รถใช้ถนนควรมีการตรวจสอบความปลอดภัยว่ารถตนเองนั้นได้มีการจัดทำประกันภัยไว้หรือไม่ เพื่อลดอัตราความเสี่ยงและความสูญเสียให้น้อยลง

ขณะที่ทางด้าน นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเป็นศูนย์กลางใหญ่ของภาคเหนือตอนบน ทำให้การใช้รถใช้ถนนนั้นค่อนข้างหนาแน่นและมีจำนวนมาก ซึ่งจากการดำเนินการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ก็ได้มีการสั่งการดำเนินงานทางยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญทั้งในช่วงเทศกาล หรือในช่วงปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมาตรการความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มาจากรถจักรยานยนต์เป็นหลักสูงถึงประมาณ 90 เปอร์เซนต์

และจากการสำรวจพบว่าในแต่ละเดือน จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูญเสียจากอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนน และรถจักรยานยนต์ค่อนข้างมาก คิดเป็นเฉลี่ยเดือนละ 40-50 รายด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราค่อนข้างสูงมาก ทางจังหวัดจึงได้มีการเน้นย้ำนโยบาย และมาตรการเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการใช้รถใช้ถนน ในส่วนของผู้ใช้ และเรื่องของเส้นทาง นอกจากนี้จากการประเมินและการรวบรวมสถิติรวมทั้งข้อมูลต่างๆ จะเห็นได้ว่า เรื่องของพฤติกรรมของผู้ขับขี่ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ความเร็ว เรื่องของการไม่สวมใส่หมวกนิรภัย รวมไปถึงเรื่องของการขับขี่ยวดยานพาหนะในขณะที่มึนเมาสุรา เป็นต้น

ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีสถิติการสูญเสียพุ่งสูง และจากการที่ทางจังหวัดได้ร่วมกับทางบริษัทกลางฯ จัดการประชุมในวันนี้ก็จะเป็นการประเมินว่ามาตรการต่างๆ ที่ทางจังหวัดได้ออกไปหลายยุทธการด้วยกันนั้นจะสามารถสนองตอบในส่วนของจังหวัดได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นที่น่ายินดีที่ทางคณะกรรมการด้านความปลอดภัยทางถนนระดับชาติ โดยมีท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ได้มีการเน้นย้ำมาตรการหลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของมาตรการเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้ผลไวที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของใบขับขี่ และอัตราเพิ่มโทษต่างๆ ที่จะออกมาเป็นกฎหมายอย่างชัดเจนภายในไม่เกินปี 2560 ที่จะถึงนี้ และคาดว่าเมื่อกฎหมายต่างๆ เหล่านี้มีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดน้อยลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น