วิสาหกิจชุมชนฯ ฟ้องไนท์ซาฟารี เบี้ยวเฉยไม่ให้ส่งอาหารสัตว์ฯ

3%e0%b8%a2%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b8%9f%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล ส่งทนายยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงค์นครทั้งชุด ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ที่ยกเลิกไม่ให้ส่งอาหารสัตว์ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กลับเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนได้ผลประโยชน์แทน

จากกรณี เมื่อวันที่ 11 ต.ค.59 ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ (ภายในศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายดี จันทคลักษณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.แม่เหียะ ต.สุเทพ อ.เมือง และ ต.หนองควาย ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พร้อมนายเศวต เวียนทอง ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล นายอินถา หลวงใจ อดีตกำกันตำบลหนองควาย ฐานะรองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4 ตำบล (อยู่ในที่ดินสร้างไนท์ซาฟารี) และตัวแทนชาวบ้านในนามวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ และห้างหุ้นส่วนสามัญ กลุ่มวิสาหกิจผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงค์นคร เป็นจำเลยที่ 1 และผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นจำเลยที่ 2 แผนกคดีงานปกครอง สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ รับคำฟ้องเป็นคดีดำ เลขที่ 309/2559 ไว้แล้ว

นายเศวต เวียนทอง ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารการก่อตั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในพื้นที่ 4 ตำบล มี ต.แม่เหียะ ต.สุเทพ อ.เมือง และ ต.หนองควาย ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เรื่องนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2547 ชาวบ้านในพื้นที่ 4 ตำบลดังกล่าวไม่ยอมให้สร้างมีการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ และองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท

“จากนั้นกรรมการบริหารการก่อตั้งไนท์ซาฟารีได้เสนอให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ให้แบ่งเป็น 7 กลุ่ม เสนอแผนชุมชนเข้าไปทำงานร่วมกับไนท์ซาฟารี มี 1.กลุ่มฝึกอบรมมัคคุเทศก์วัฒนธรรมท้องถิ่น 2.กิ๋นข้าวลำนักฮักศิลปะล้านนา 3.กลุ่มรับขนส่งนักท่องเที่ยว (สี่ล้อแดง ยังดำเนินการอยู่) 4.กลุ่มประชาสัมพันธ์ 5.กลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 6.กลุ่มที่พักเชิงอนุรักษ์และสุดท้าย กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล ปัจจุบันกลุ่มที่ทำงานอยู่ได้มีเพียงวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มสี่ล้อแดงให้บริการเท่านั้น ที่เหลือไม่สามารถดำเนินการได้”

ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล กล่าวอีกว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ส่งอาหารให้สัตว์ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมานานถึง 10 ปี มีสมาชิกกว่า 500 ครอบครัวทั้งใน 4 ตำบลและสมาชิกเครือข่ายใน 4 จังหวัดภาคเหนือ มี จ.เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และจ.แม่ฮ่องสอน ที่มีหุ้นกว่า 20,000 หุ้น มีเงินปันผลหุ้น 15 บาท ทุกปี และเสียภาษีให้รัฐบาลมาตลอด 9 ปี ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 10 เท่าที่ดำเนินการมา 9 ปี รายได้ 97 ล้านบาท กระจายรายได้ลงท้องถิ่น 93 ล้านบาท แบ่งมาบริหารจัดการเพียง 4% ถือว่าเป็นการสร้างรายได้โดยคนในท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่นโดยแท้จริง บริหารงานโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง”

นายเศวต กล่าวว่า ต่อมา พ.ศ.2551 มีการเปลี่ยนผู้บริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้พยายามเลิกจ้างวิสาหกิจชุมชนส่งอาหารสัตว์อีก ชาวบ้านและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์จึงได้ฟ้องผู้บริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2551 ต่อมาไกล่เกลี่ยและยอมความจึงถอนฟ้องไนท์ซาฟารี แต่ให้ลงบันทึกว่า ต่อไปไนท์ซาฟารีจะไม่ให้พ่อค้าคนกลางรายอื่นมาส่งอาหารสัตว์อีกต่อไป จะให้เพียงวิสาหกิจชุมชนเพียงรายเดียวส่งอาหารสัตว์เท่านั้น

“มาวันนี้ก็มีการการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใหม่และเปลี่ยนชื่อองค์กรสำนักงานพัฒนาพิงค์นคร (องค์การมหาชน) ที่มีหน้าที่ดูแลไนท์ซาฟารีด้วย ก็มาแจ้งขอยกเลิกสัญญากับทางวิสาหกิจชุมชนในการส่งอาหารสัตว์อีกและให้มีการประมูลแข่งขันกับรายอื่น ทางวิสาหกิจชุมชนเห็นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามคำสั่งศาลปกครอง จึงทำหนังสือคัดค้านให้หยุดการประมูลไปยังผู้บริหารไนท์ซาฟารีไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2559 แต่ทางไนท์ซาฟารีก็ยังมีการเปิดประมูลโดยไม่รับฟังข้อคัดค้าน ดำเนินการประมูลเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2559 ทางวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบลแสดงจุดยืนจึงไม่ยื่นซองประมูลแต่อย่างใด”

“แต่ทางไนท์ซาฟารีได้จัดประมูลเสร็จสิ้นไปแล้วและผู้ประมูลได้คือ ร้านอำไพร การเกษตร (ตัวแทน CP) ได้ส่งอาหารสัตว์ทั้งหมดในไนท์ซาฟารีเพียงรายเดียว ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลงความเห็นว่าเป็นเพียงคนรายเดียวและเป็นพ่อค้าคนกลางด้วย ปัญหาจึงเกิดขึ้นกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ที่มีสมาชิกจำนวน 500 ครอบครัวเดือดร้อน ที่ผลิตอาหารสัตว์แล้วไม่มีสถานที่จำหน่าย จะต้องตกงานขาดรายได้ ซึ่งเห็นว่าการกระทำของผู้บริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่จริงใจกับประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความกรุณาต่อศาลท่านเพื่อขอได้รับความคุ้มครองจากทางศาลปกครองต่อไป” นายเศวต เวียนทอง ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น