“โคมล้านนา” สืบสานงานประเพณียี่เป็ง

dscf0101หลังเทศกาลวันออกพรรษาไม่นานเมื่อสายฝนชุดสุดท้ายสั่งลา เป็นสัญญาณเสมือนว่าเทศกาลงานยี่เป็งกำลังจะเข้ามาเยือน พร้อมกับอากาศที่เริ่มหนาวเย็น ชาวล้านนาเกือบทุกครัวเรือนต่างก็ตระเตรียมเครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องไทยทานเพื่อไปทำบุญที่วัด เพราะในช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่ (เหนือ) ผู้เฒ่าผู้แก่จะถือโอกาสไปนอนอ้างค้างแรมที่วัดเพื่อฟังธรรม อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนา

เสียงประทัดดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ บ้านเรือนแต่ละหลังประดับประดาไปด้วยประธีปโคมไฟสร้างสีสันและครึกครื้นให้กับงานประเพณีของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี โคมไฟกับงานประเพณียี่เป็งถือได้ว่าเป็นของคู่กัน แต่ก่อนชาวล้านนามีโคมไฟใช้ไม่แพร่หลาย ประโยชน์ใช้สอยของโคมแต่โบราณทำขึ้นเพื่อใช้เป็นตะเกียงหรือสิ่งประดิษฐ์สำหรับจุดไฟให้สว่าง แต่ด้วยเหตุผลที่น้ำมันมีราคาแพงประเพณีการจุดโคมแต่เดิมจึงมักมีเฉพาะในบ้านของเจ้านายใหญ่โต เท่าที่ผ่านมาชาวล้านนาใช้โคมในฐานะของเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น

ปัจจุบันการประดับตกแต่งโคมในเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีจะมีให้เห็นในประเพณียี่เป็ง ราวเดือนพฤศจิกายนชาวล้านนาจะประดิษฐ์โคมเพื่อเป็นพุทธบูชา เพราะมีความเชื่อว่าชาติหน้าเกิดมาจะมีสติปัญญาดี เนื่องจากแสงสว่างเป็นแสงที่ส่องเข้าไปยังความมืด เปรียบเสมือนปัญญาที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ การประดิษฐ์โคมขึ้นเพื่อใช้ในงานมงคลต่าง ๆ มีจุดประสงค์สำคัญอยู่ 4 อย่างคือ เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่อความสวยงาม เพื่อเพิ่มความสว่างไสวให้กับอาคารบ้านเรือนและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน

dscf0069

ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ หรือประเพณีลอยกระทงของไทย นับได้ว่าเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุรักษ์และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี จนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เทศกาลโคมยี่เป็งจัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สืบทอดมรดกของล้านนา ซึ่ง “โคม” ถือเป็นสัญลักษณ์ของงานประเพณียี่เป็งของล้านนามาช้านาน

เมื่อถึงงานเทศกาลยี่เป็งเมื่อใดชาวล้านนาจะนิยมประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามด้วยซุ้มประตูป่าและจุดประทีปโคมไฟให้สว่างสดใสตลอดช่วงเทศกาลยี่เป็ง ชาวล้านนาเชื่อว่าการทำโคม เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่บนสรวงสวรรค์

ที่บ้านเมืองสาตรหลวง ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการทำโคมกันอย่างแพร่ โคมที่ทำจากหมู่บ้านนี้เป็นที่รู้จักกันดีของคนภายนอก ป้าสีนา บุญทากับป้าจันหอม วงค์ลาน ซึ่งเป็นช่างที่มีฝีมือในการทำโคมมากว่า 20 ปีเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว หมู่บ้านเมืองสาตรหลวงจะมีช่างฝีมือในการทำโคมอยู่คนหนึ่งชื่อ ป้าสม ด้วยความที่มีฝีมือในการทำโคมได้อย่างสวยงามจึงทำให้มีคนมาเรียนการทำโคมจากป้าสมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในนั้นก็มีป้าสีนากับป้าจันหอมด้วย

dscf0067

ป้าสีนายังเล่าว่า สมัยก่อนจะมีการทำโคมญี่ปุ่นกันอย่างแพร่หลาย ด้วยความที่ทำยากจนทำให้โคมญี่ปุ่นไม่ได้รับนิยม ชาวบ้านเลยหันมาทำโคมเหลี่ยมกันมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องยุ่งยากในการเตรียมอุปกรณ์มากนัก จะมีเพียงไม่ไผ่ที่หักเป็นท่อน ๆ กับกระดาษว่าวเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันเมื่อมีการแข่งขันกันสูงทั้งในปริมาณที่ต้องส่งออกขายและความรวดเร็วในการผลิตจึงทำให้ชื่อเสียงของโคมเหลี่ยมแพร่หลายและได้รับความนิยมต่อมา

ทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลงานยี่เป็งสังเกตุเห็นว่าร้านค้าต่าง ๆ จะนำโคมมาห้อยขายเป็นจำนวนมาก มีชาวบ้านจะซื้อไปประดับบ้านช่องเพื่อเพิ่มความสว่างไสวในงานยี่เป็ง ป้าอานอม สุทธิศิลป์ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายโคมยี่เป็งบอกว่า ช่วงเทศกาลจะมีพ่อค้ามากว้านซื้อโคมเป็นจำนวนมาก บางครั้งทำขายแทบไม่ทัน ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าจากต่างจังหวัดมาซื้อ จากเชียงราย กรุงเทพฯ ตาก ยโสธร บางครั้งมาไกลจากอำเภอทุ่งสง นครศรีธรรมราชก็มี

ปัจจุบันนี้อาชีพทำโคมได้แพร่หลายออกไปยังหมู่บ้านอื่น ผู้คนให้ความสนใจผลิตโคมกันมากขึ้น น่าดีใจที่ว่าอย่างน้อยการได้สืบสานงานหัตถกรรมของล้านนายังคงมีอยู่ แม้ว่าจะทำกันในช่วงงานเทศกาลก็ตาม การได้สืบทอดมรดกของคนล้านนาเหล่านี้ทำให้ลูกหลานได้มีอาชีพและรายได้ โดยไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำที่อื่น

dscf0073

โคมล้านนาที่ใช้ทั่วไปในงานบุญของภาคเหนือ มักเป็นโคมที่ใช้เพื่อความสวยงามและการประดับตกแต่ง
มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท

โคมถือหรือโคมหูกระต่าย จะใช้ในงานเทศกาลยี่เป็ง ชาวพุทธจะถือไปเดินร่วมขบวนแห่งานลอยกระทง มีเทียนไขหรือประทีปจุดให้ความสว่างอยู่ภายในโคม เมื่อเสร็จจากการเดินร่วมขบวนแล้วก็จะนำไปประดับไว้รอบ ๆ โบสถ์หรือสถานที่มีพิธี

โคมลอย เป็นโคมที่ทำจากไม้ไผ่ขดเป็นวงกลมทำเป็นปากโคม ใช้กระดาษว่าวหุ้มเป็นรูปทรงกลมปลายมน หรือเหมือนบอลลูน ใช้ควันไฟปล่อยเข้าไปในปากโคมลอยจนได้ที่แล้วปล่อยให้ลอยขึ้นไปบนฟ้า ด้วยความเชื่อว่าเพื่อจะให้โคมลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีดุสิตสวรรค์ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้เกิดปีจอ หรือเพื่อบูชาแก่เจ้าผู้ให้กำเนิดของตนบนสวรรค์ หรือที่เรียกว่าพ่อเกิดแม่เกิด

โคมแขวน เป็นโคมบูชาพระมีหลายรูปแบบ เช่นโคมบาตรพระ โคมรูปดาว โคมตะกร้า โคมเหลี่ยม โคมเสมาธรรมจักร โคมญี่ปุ่น ฯลฯ ใช้ประดับอาคารสถานที่ ทำให้สง่างามสว่างไสวเป็นสิริมงคลใช้ตกแต่งอาคารบ้านเรือนเพื่อบูชาเทพารักษ์ผู้รักษาบ้านก็ได้

โคมผัด เป็นโคมหมุนมี 2 ชั้น คือชั้นนอกและชั้นใน โคมชนิดนี้ใช้ความร้อนจากควันเทียนดันให้ใบพัดแกนกลางโคมหมุน เวลาหมุนลวดลายจะปรากฏที่ด้านนอกคล้ายกับหนังตะลุง โคมผัดนี้เป็นโคมที่ตั้งอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ ปัจจุบันหาคนทำโคมชนิดนี้ได้น้อยเต็มที เพราะเป็นโคมที่ทำยากและกำลังจะสูญหายไป.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น