จับมือเดินหน้า วางรากฐานอนาคตผลผลิตเกษตร

b3-w12h10
ก.เกษตรฯ จับมือ ก.อุตสาหกรรม จัดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนา Food Valley ด้านการเกษตร อาหาร และการแปรรูป หวังวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว สนองนโยบาล รัฐบาลในการสนับสนุนภาคการเกษตร “Thailand 4.0” ย้ำแต่ละภูมิภาคต้องสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารของตนเองอย่างเข้มแข็ง เผยอุตสาหกรรมอาหารของไทย สามารถส่งออกไปยังทั่วโลกได้กว่า 200 ประเทศ มูลค่าเฉลี่ยมากกว่าปีละ 800,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มขยายตัวอยางต่อเนื่อง
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนา Food Valley ด้านการเกษตร อาหาร และการแปรรูป ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ถือการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อนำความได้เปรียบด้านทรัพยากรทางการเกษตรของประเทศไทยมาต่อยอด นอกจากนี้รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนภาคการเกษตร Thailand 4.0 โดยเน้นการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาต่อยอดใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กลุ่มเทคโนโลยีเกษตร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรให้มีศักยภาพ ตามความต้องการของผู้บริโภค ส่งเสริมการพัฒนาสร้างนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยพัฒนาตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า เป็นความร่วมมือภาคประชารัฐ โดยแต่ละภูมิภาคจต้องเกิด Food Valley ที่สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารของตนเองอย่างเข้มแข็ง อาทิ Food Valley ภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปกลุ่มผัก ผลไม้ พืชไร่และวัตถุดิบท้องถิ่นอื่นๆ Food Valley ภาคกลาง
เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารกลุ่ม Function food และ Super food ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ Meditational food และ ภาคใต้ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเล อาหารฮาลาล และวัตถุดิบท้องถิ่น
อื่นๆ นับเป็นการบูรณาการการทำงานหลายฝ่าย ภายใต้แนวคิดประชารัฐ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทย
สามารถส่งออกไปยังทั่วโลกได้กว่า 200 ประเทศ มูลค่าเฉลี่ยมากกว่าปีละ 800,000 ล้านบาท โดยในปี2558 ที่ผ่านมา สามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศกว่า 897,529 ล้านบาท ส่วนในปี 2559 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 มูลค่าประมาณ 950,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากความหลากหลายของอาหาร ทั้งในรูปแบบอาหารแช่แข็ง และอาหารแปรรูป รวมถึงรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งผลักดัน เพื่อให้เข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย Thailand 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสร้าง มูลค่าและมาตรฐานที่ดี พร้อมเป็นศูนย์กลางเพื่อกระจายสินค้าสู่ตลาดทั่วโลก ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามแม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทย จะมีแนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกในระดับที่ดี แต่ก็ยังพบว่าผู้ประกอบและหลายๆ อุตสาหกรรม ยังประสบปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนา อาทิ นวัตกรรมด้านการผลิต การวิจัยเพื่อคุณภาพของสินค้า การควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และการควบคุม
การผลิต
ด้านนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวว่า สวก. ได้รับบริหารจัดการทุนวิจัยเรื่อง Food Valley งบประมาณ 46 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยตอบสนองนโยบาย เป้าหมายรัฐบาลและระเบียบวาระแห่งชาติ โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมด้านเกษตร อาหาร และการแปรรูป (New Startups) จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ด้วยการขับเคลื่อนจากงานวิจัยผ่านเครือข่าย Food Valley ไม่น้อยกว่า 50 ราย
ภายใน 5 ปี
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร จึงได้ร่วมมือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ นอกจากเป็นการช่วยผู้ประกอบการกับ SME แล้ว ยังช่วยผลักดันให้มีการพัฒนาด้านการเกษตรที่เป็นต้นทางส่งต่อวัตถุดิบ ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีอีกด้วย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะดำเนินงานร่วมกัน ดังนี้ 1.คัดเลือกผู้ประกอบ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยเข้าร่วมโครงการ Food Valley 2.ติดตามประเมินผลงานวิจัย และผลกระทบ ทั้งด้านวิชาการ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร อาหาร และการแปรรูปของประเทศอย่างยั่งยืน 3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงข้อมูลบุคลากร เทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือ พื้นที่สำหรับดำเนินโครงการ 4.ถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยและการพัฒนา ที่เกิดจากความร่วมมือนี้ เพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์ได้นำไปใช้ขยายผล และ 5.เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาFood Valley อย่างยั่งยืนต่อไป ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น