รัฐควักให้อีก หมู่บ้านละ 2.5 แสน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐภาค 2

ผลงานเข้าตา รัฐบาลควักให้อีก หมู่บ้านละ 250,000 บาท จัดโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ภาค 2 แจงวิธีดำเนินการเหมือนโครงการหมู่บ้าน 2 แสนบาทเป๊ะ ต้องเริ่มจากประชาคมก่อนเท่านั้น แต่เงื่อนไขผ่อนคลาย จะไปศึกษาดูงานเปิดช่องให้ดำเนินการได้ แต่ต้องเป็นการศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือศูนย์การพัฒนาฯ พร้อมห้ามซื้อประเภทครุภัณฑ์ ย้ำโครงการที่จะทำต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 ธ.ค.59 นี้เท่านั้น

วันที่ 25 ต.ค.59 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยสาระสำคัญของเรื่องตามมติครม.นี้ สรุปได้กว่า กระทรวงการคลังรายงานว่า โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ภูมิภาคผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน หรือการดำเนินกิจการสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีจำนวน 74,655 หมู่บ้าน ระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ 3 เดือน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้มติการประชุม ครม. กระทรวงการคลังจะต้องใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านหมู่บ้าน จำนวน 74,655 แห่งทั่วประเทศ โดยจะจ่ายเงินให้หมู่บ้านละ 250,000 บาท หรือคิดเป็นวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้รวม 18,663 กว่าล้านบาท เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการขนาดเล็ก ตามแนวทางประชารัฐ ในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลเห็นว่า ควรดำเนินการต่อเนื่อง จากปีงบประมาณ 2559 เพราะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนและยังสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณให้หมู่บ้านทั่วประเทศหมู่บ้านละไม่เกิน 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 14,931 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ในปีงบประมาณ 2560 นี้ ทุกโครงการยังต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้านและแนวทางการดำเนินโครงการเหมือนกับโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท เมื่อปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา โดยโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ทางกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักการเบื้องต้น ไว้ว่า เมื่อหมู่บ้านได้รับแจ้งจากอำเภอแล้ให้จัดประชุมประชาคมหมู่บ้านโดยใช้หลักเกณฑ์การประชุมประชาคมเช่นเดียวกับโครงการ คปช. หรือโครงการหมู่บ้านละ 200,000 บาท เมื่อปี 2559 เพื่อพิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการฯ ในการดำเนินการจำนวน 3 คณะ คณะละ 3 คนไม่ซ้ำกัน คือ คณะกรรมการเบิกจ่ายเงินและจัดทำบัญชี คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และพิจารณาคัดเลือกโครงการหมู่บ้านละ 1 โครงการ โดยมีหลักเกณฑ์การเสนอโครงการ ดังนี้ ต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค.59 เป็นโครงการลักษณะเช่นเดียวกับโครงการ คปช. หรือโครงการหมู่บ้านละ 200,000 บาท ปี 2559 เน้นหมู่บ้านดำเนินการเอง เป็นโครงการที่ใช้แรงงานคนไทยในพื้นที่หมู่บ้าน หากไม่เพียงพอให้ใช้แรงงานในตำบลหรือในอำเภอ แต่ต้องอยู่ภายในจังหวัดเดียงกันกับหมู่บ้าน

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้หมู่บ้านสามารถรวมงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างหมู่บ้านภายในตำบลเดียวกันได้ ให้รวมได้ตั้งแต่ 2 หมู่บ้านขึ้นไป โดยหมู่บ้านที่จะรวมจะต้องจัดประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นชอบรวมงบประมาณก่อน จึงจัดให้มีการประชุมประชาคมร่วมกันระหว่างหมู่บ้านที่ขอรวมงบประมาณ เพื่อขอความเห็นชอบโครงการและแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 คณะร่วมกัน ทั้งนี้การควบรวมไม่สามารถรวมระหว่างตำบลได้

โครงการหมู่บ้านละ 250,000 บาท ครั้งนี้สามารถจัดทำโครงการฝึกอาชีพฯ ได้ โดยโครงการนั้นสามารถจัดซื้อวัสดุฝีกประกอบการฝึกอบรมได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณตามโครงการที่หมู่บ้านจะดำเนินการ หรือจะเป็นโครงการกำจัดผักตบชวา วัชพืช และขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ โดยห้ามดำเนินการแบบจ้างเหมา และให้ใช้แรงงานในหมู่บ้านเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้แต่ละหมู่บ้านจัดทำโครงการในลักษณะศึกษาดูงาน แต่ต้องเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือศูนย์การพัฒนาฯ โดยให้มีส่วนราชการเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งนี้ในกรณีที่มีการจ้างเหมา ให้ทำก่อหนี้ผูกพันและลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 ธ.ค.59

สำหรับข้อห้ามการดำเนินโครงการหมู่บ้านละ 250,000 บาท กรมการปกครองกำหนดห้ามไม่ให้ดำเนินโครงการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม วัด สถานศึกษา สถานที่ของทางราชการ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้ใช้สถานที่นั้นๆ ก่อน รวมทั้งห้ามมิให้ดำเนินโครงการในที่สาธารณประโยชน์ยกเว้นการซ่อมแซมสิ่งที่มีอยู่แล้วบนที่สาธารณประโยชน์นั้น นอกจากนี้ยังห้ามการจัดซื้อครุภัณฑ์ เว้นแต่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์จำเป็นเพื่อประกอบโครงการหรือครุภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในหมู่บ้าน แต่จะต้องมีแผนการบำรุงรักษา แผนการใช้งาน และมีคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม. หรือมีคณะกรรมการของหมู่บ้านเข้ามารับผิดชอบที่ชัดเจนในการใช้งาน บำรุงรักษา ครุภัณฑ์ ตามโครงการ นอกจากนี้ยังห้ามจัดซื้อยานพาหนะ เครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์สื่อสาร กล้องวงจรปิด แผงโซล่าเซลล์ ของที่ผ่านการใช้งานแล้ว หรือเครื่องออกกำลังกายที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

ร่วมแสดงความคิดเห็น