เที่ยวลำปางชม “บ้านเสานัก” บ้านไม้โบราณ 100 ปี

dscf1398

รูปแบบและความเก่าของบ้านเสานัก สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต รสนิยม แบบแผนประเพณีพื้นเมืองของชาวลำปางเป็นอย่างดี ดังนั้นบ้านเสานักจึงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า การอนุรักษ์บ้านเสานักจึงเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังในการศึกษาเรียนรู้อดีตความเป็นมาของประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวลำปางอีกด้วย

หลายต่อหลายครั้งที่ต้องสัญจรไปเยือน “เขลางค์นคร” หรือเมืองลำปางในปัจจุบัน กลับทำให้พบว่า แท้จริงแล้วเมืองแห่งนี้มีอะไรน่าค้นหาอีกมากมาย นอกจากเราจะรู้จักชื่อเสียงของลำปางจากรถม้าและชามตราไก่แล้ว ลำปางยังเป็นเมืองที่รวมเอาศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของล้านนามาไว้ที่นี่ ตั้งแต่วัดพม่า อาคารโบราณสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะบ้านไม้สักที่ว่ากันว่ามีอยู่มากไม่แพ้จังหวัดแพร่

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้นึกคิดเอาเอง เพราะเมื่อใดที่เหยียบย่างไปบนถนนท่ามะโอ ตั้งแต่สะพานเขลางค์ผ่านป่าไม้เขตจะพบว่ามีบ้านไม้โบราณตั้งเรียงรายอยู่สองฟากถนน ราวกับว่ากำลังเดินทางย้อนกาลเวลาเข้าไปหาอดีตเมื่อราว 50 – 60 ปีก่อน

 

dscf1394
หากพูดถึงบ้านไม้สักโบราณในเมือลำปางนั้นมีมาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปี แต่ในช่วงที่มีการเปิดสัมปทานทำไม้สักในภาคเหนือดูเหมือนว่าจะเป็นยุครุ่งเรืองของบ้านไม้สักก็ว่าได้ เพราะพ่อค้าคหบดีจะนิยมสร้างบ้านด้วยไม้สักอันเป็นการบ่งบอกถึงฐานะทางสังคม ยิ่งสร้างบ้านได้หลังใหญ่มีจำนวนเสาบ้านมากเท่าใดก็ถือว่าเป็นคนมีฐานะมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นในสมัยก่อนคนโบราณจึงนิยมสร้างบ้านด้วยไม้สักมีเสาขนาดใหญ่หลายต้น

ในจำนวนบ้านไม้สักโบราณของเมืองลำปาง บ้านเสานักดูเหมือนว่าจะมีคนพูดถึงมากที่สุด เพราะเป็นสถานที่รวมเอาข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณมาไว้มากที่สุด การจัดวางในลักษณะเดิมที่เจ้าของบ้านอาศัยอีกทั้งบรรยากาศของบ้านล้านนา ทำให้บ้านเสานักกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองลำปางที่ไม่เคยเงียบเหงาไปจากผู้มาเยือนdscf1378

บ้านเสานัก สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2438 โดยคหบดีพ่อค้าชื่อ “หม่องจันโอง” ซึ่งเป็นต้นตระกูลจันทรวิโรจน์ เป็นบ้านไม้สักโบราณศิลปะพม่าผสมล้านนา มีเสาเรือนถึง 116 ต้น ลักษณะที่โดดเด่นของบ้านเสานัก ทำให้อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ได้มาศึกษาและถ่ายภาพนำไปอ้างอิงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมล้านนา นอกจากนั้นบ้านแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ดูงานของนักศึกษาสถาปัตยกรรมจากหลายสถาบัน จนทำให้ชื่อเสียงของบ้านเสานักเป็นที่รู้จักในหมู่สถาปนิกและนักออกแบบไปทั่วประเทศ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2539 สยามสมาคมได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเสานักไว้ในหนังสือ Heritage Homes of Thailand รวมทั้งมีนิตยสารจากต่างประเทศหลายฉบับนำเรื่องราวและประวัติของบ้านเสานักไปเผยแพร่ทั่วโลก

รูปแบบและความเก่าของบ้านเสานัก สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต รสนิยม แบบแผนประเพณีพื้นเมืองของชาวลำปางเป็นอย่างดี ดังนั้นบ้านเสานักจึงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า การอนุรักษ์บ้านเสานักจึงเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังในการศึกษาเรียนรู้อดีตความเป็นมาของประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวลำปางอีกด้วย

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ท่านเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เป็นหนุ่มก็ได้นำเรื่องราวของบ้านออกเผยแพร่ในรายการโทรทัศน์และวิทยุและท่านยังเป็นคนแรกที่เรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านเสานัก” กระทั่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
บ้านเสานักตกทอดมาถึงสมัยของคุณหญิงวลัย ลีลานุช อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนลำปางกัลยาณี ซึ่งเป็นหลานตาของหม่องจันโอง ท่านได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเสานักเพื่อเป็นที่อยู่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยต้องการอนุรักษ์บ้านให้อยู่ในสภาพคงเดิมให้มากที่สุด ภายหลังจากที่คุณหญิงวลัย ลีลานุช ถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ.2535 บ้านเสานักจึงไม่มีผู้อาศัยอยู่ คุณฌาดา ชิวารักษ์ได้สืบทอดเจตนารมย์โดยดูแลบ้านเสานักให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สนใจ

dscf1381

บ้านเสานักผ่านวันเวลาแห่งอดีตกาลในฐานะของบ้านพักคหบดีของลำปาง กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดเมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาทินัดดามาตุ เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหาร และประทับพักผ่อนพระอริยาบทเมื่อครั้งเสด็จประพาสจังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2520

และเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2522 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารและประทับพักผ่อนพระอริยาบทที่บ้านเสานักอีกครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าแก่ชาวลำปาง
ปัจจุบันบ้านเสานัก จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง เก็บรวบรวมเครื่องใช้โบราณ รูปภาพ ภายในบริเวณบ้านเสานักยังมีถุข้าวเสาหลายและต้นสารภีอายุ 130 ปี

การเดินทางไปบ้านเสานัก เริ่มต้นจากสะพานเขลางค์ไปตามถนนท่ามะโอ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนราษฏร์วัฒนา บ้านเสานักเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 10.00 – 17.00 น.ค่าชมพร้อมเครื่องดื่ม 30 บาท พระภิกษุ เด็ก นักเรียน นักศึกษา เข้าชมฟรี สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 5422 – 7653, 0 – 5422 – 4636

dscf1377

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น