4 แอพพลิเคชั่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลให้การใช้ชีวิตมีความสะดวก

p1
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ส่งผลให้การใช้ชีวิตต่างๆ มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ ที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างสุขภาพที่ดี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรหลัก ที่สร้างแรงผลักดันให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการาส่งเสริมด้านออกกำลังกาย การให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นต้น สสส.จึงมีอีกหนึ่งตัวช่วยที่ให้ทุกคนสามารถสร้างสุขภาพที่ดีได้ง่ายๆ โดยผ่านช่องทาง 4 แอพพลิเคชัน ได้แก่ 1. แอพพลิเคชัน FoodiEat 2.แอพพลิเคชัน วัดกำลัง 3. แอพพลิเคชัน Good Walk และ 4.แอพพลิเคชัน ปั่นเมือง โดยแอพพลิเคชันสร้างเสริมสุขภาพดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเกิดแรงจูงใจหันมามีกิจกรรมทางกาย และใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งแต่ละแอพพลิเคชันยังสามารถตอบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนได้

1. แอพพลิเคชัน FoodiEat
FoodiEat เป็นแอพพลิเคชันที่บันทึก และวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และออกกำลังกาย ซึ่งสามารถคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) ได้ ซึ่งถ้านำมาใช้ร่วมกับประวัติการรับประทานอาหารและออกกำลังกายด้วยแล้ว จะทำให้ทราบว่าอาหารที่บริโภคนั้น เหมาะสมกับความต้องการพลังงานของร่างกายหรือไม่

แอพพลิเคชันนี้จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

2.แอพพลิเคชัน วัดกำลัง
“วัดกำลัง” เป็นแอพพลิเคชันที่ช่วยวัดความสามารถในการออกกำลังกาย ด้วยเครื่องมือการวัดที่หลากหลาย ซึ่งวัดและประเมินค่าต่างๆ ดังนี้ 1.ประเมินความเสี่ยงจากร่างกาย (PAR-Q) 2.วัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI), เส้นรอบพุง, ความทนทานของกล้ามเนื้อ, และความยืดหยุ่น 3.บันทึกค่าที่วัด และแสดงการเปลี่ยนแปลงออกมาในรูปแบบกราฟ 4.คำแนะนำในการออกกำลังกาย รวมถึงข้อควรระวังในวัยต่างๆ และ 5.รูปแบบการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ที่บ้าน หรือที่ทำงาน

แอพพลิเคชันนี้จัดทำโดยบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน และการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการจัดการความรู้สุขภาพ ผ่านสื่อและเทคโนโลยีออนไลน์มูลนิธิหมอชาวบ้าน

3.แอพพลิเคชัน Good Walk
“Good Walk” เป็นแอพพลิเคชัน ที่ให้ประชาชนร่วมกันรายงานคุณภาพทางเท้าที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน โดยถ่ายภาพ ระบุที่ตั้ง และให้คะแนนคุณภาพด้านต่างๆ ของทางเท้าผ่านแอพพลิเคชัน เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินสัญจรไปยังที่ต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวันอย่างสะดวก และที่สำคัญยังเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยด้วย
แอพพลิเคชันนี้จัดทำโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

4.แอพพลิเคชัน “ปั่นเมือง”
แอพพลิเคชัน ปั่นเมือง เป็นการทราบข้อมูลเส้นทางปั่นจักรยาน ร้านซ่อมจักรยาน และจุดจอดพักรถจักรยานว่าอยู่ที่ไหน และสามารถระบุละเอียดถึงอุปสรรคบนเส้นทาง ทางขรุขระ ทางร่วมสัญจร หรือทางที่ต้องยกรถข้ามถนน และก็ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถร่วมกันสร้างเมืองแห่งจักรยาน

แอพพลิเคชันนี้จัดทำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิโลกสีเขียว

นอกจากการสร้างเสริมสุขภาพโดยผ่านช่องทางทั้ง 4 แอพพลิเคชันนี้แล้ว เร็วๆ นี้ สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ จะมีการจัดงาน การประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 The 6th ISPAH International Congress on Physical Activity and Public Health (ISPAH Congress 2016) ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (PA) ที่ครอบคลุมทั้งด้านกีฬา การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2559 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.ispah2016.org/

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ , มูลนิธิหมอชาวบ้าน , โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี , มูลนิธิโลกสีเขียว

ร่วมแสดงความคิดเห็น