เตือนห้ามกิน สัตว์ป่วยตาย

เตือนไม่ควรนำเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายมาบริโภค อาจมีผลกระทบต่อร่างกาย หากพบสัตว์ป่วยตายด้วยโรคขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อกำจัดหรือทำลายซากสัตว์ป่วย เช่น ขุดหลุมฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งการทำลายที่ไม่ถูกวิธีและไม่ทันท่วงทีจะทำให้เชื้อแพร่กระจายและเกิดการระบาดของโรคได้

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.59 นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สัตว์เลี้ยงมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง จึงเกิดการล้มป่วยได้ง่าย โดยโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย หรือโรคคอบวม เป็นโรคในสัตว์ที่ไม่ติดต่อสู่คนและไม่ก่อโรคในคน เชื้อนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ในเวลาปกติสัตว์จะไม่แสดงอาการป่วยแต่เมื่อมีภาวะทำให้เครียด เช่น ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกมาผ่านการขับถ่าย ปนเปื้อนในอาหารและน้ำ และเมื่อสัตว์อื่นมาสัมผัสเชื้อจะทำให้ป่วยและเกิดการแพร่กระจายของโรค สำหรับโรคพยาธิในเลือด ทำให้สัตว์มีอาการซึม ไม่กินอาหาร เยื่อเมือกซีด ไข้สูง อ่อนแรง และอาจตายอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากภาวะโลหิตจางขั้นรุนแรง ซึ่งมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะของโรค เช่น เห็บ เหลือบ แมลงวันคอก และยุง เป็นต้น

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่วย รวมถึงฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรค ทั้งนี้ เมื่อมีการระบาดของโรคต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที หากประชาชนพบสัตว์ป่วยผิดปกติ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้มาตรวจสอบโดยเร็ว และควรทำการตรวจสัตว์บริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดด้วย และหากพบสัตว์ป่วยตายด้วยโรคขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อกำจัดหรือทำลายซากสัตว์ป่วย เช่น ขุดหลุมฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งการทำลายที่ไม่ถูกวิธีและไม่ทันท่วงทีจะทำให้เชื้อแพร่กระจายและเกิดการระบาดของโรคได้

ที่สำคัญไม่ควรนำซากสัตว์ที่ป่วยตายไปขายหรือบริโภคโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว และผู้ที่บริโภคซากสัตว์ที่ป่วยตายก็อาจได้รับผลกระทบจากยาปฏิชีวนะที่ตกค้างจากเนื้อสัตว์ที่ป่วยตาย โดยเฉพาะในช่วงนี้การบริโภคเนื้อวัวควาย ขอให้ประชาชนปรุงสุกก่อนบริโภคทุกครั้ง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น