จัดหางานแจงกฏเหล็ก ขีดเส้นแรงงานต่างด้าว

b3-w4-5h5-11
นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่

จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่แจงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตทำงาน ต้องทำงานตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน ส่วนนายจ้างห้ามมิให้ลูกจ้างของตัวเองไปทำกับงานกับนายจ้างรายอื่น หรือทำงานผิดเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนอย่าหลงเชื่อบุคคลที่หลอกลวงว่ามีการเปิดขึ้นทะเบียนใหม่ ลั่นหากพบกระทำความผิดมีโทษทั้งนายจ้างและผู้รับทำงาน

นางสาวสุรัสวดี ดลโสภณ นักศึกษาฝึกประสบการณ์มหาวิทยาลัยพะเยา สาขาการสื่อสารสื่อใหม่ รายงานว่า นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา เพื่อควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามกฏหมาย โดยในปีงบประมาณ 2559 สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตรวจสอบ การทำงานของคนต่างด้าว รวมถึงดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวและนายจ้าง ที่กระทำผิดพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ.2551 ดำเนินคดีกับนายจ้างหรือสถานประกอบการ จำนวนทั้งสิ้น 36 ราย จำนวน 91 คดี แยกเป็นรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน จำนวน 15 คดี รับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ได้รับอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน จำนวน 54 คดี ให้คนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานกับตน ทำงานนอกเหนือจากประเภทหรือลักษณะงาน ณ สถานที่ที่ได้รับอนุญาตจำนวน 22 คดี ดำเนินคดีต่างด้าว จำนวนทั้งสิ้น 98 รายจำนวน 98 คดี แยกเป็นเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 9 คดี เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและหลบหนีเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด จำนวน 11 คดี เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 2 คดี เป็นคนต่างด้าวทำงานนอกเหนือไปจากประเภทหรือลักษณะงานและกับนายจ้าง ณ ท้องที่หรือสถานที่ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 76 คดี จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่านายจ้างจะมีการส่งลูกจ้างของตนเองให้ไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น บางรายรับเป็นนายจ้างเพื่อทำใบอนุญาตทำงานให้แต่ไม่มีการจ้างงานจริง แล้วให้ลูกจ้างหางานทำเอง เช่น รับจ้างเหมาปลูกผัก รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างขายอาหาร เร่ขายของ เป็นต้น และขณะนี้ยังมีข่าวกลุ่มบุคคลให้ข้อมูลกับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว ว่ามีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรายใหม่ และเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เป็นการการจดทะเบียนต่ออายุการทำงานแรงงานต่างด้าวประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำใน 22 จังหวัดชายทะเลที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุปี 2559 ให้สามารถทำงานได้ถึง 1 พฤศจิกายน 2560 เท่านั้น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำแต่อย่างใด

นางเยาวภา กล่าวต่อว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเตือนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ต้องให้ลูกจ้างทำงานกับตนเอง ในตำแหน่ง ลักษณะงาน ท้องที่หรือสถานที่ทำงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนผู้ที่รับจ้างลูกจ้างของผู้อื่นเข้าทำงานก็จะมีความผิดเช่นกัน และแรงงานต่างด้าวก็ห้ามมิให้ทำงานกับนายจ้าง ตำแหน่งงาน ท้องที่หรือสถานที่ทำงานอื่น นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน เว้นแต่ ในระหว่างที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาจ้างจะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ ตามเงื่อนไขคือ นายจ้างเลิกจ้างหรือนายจ้างเสียชีวิต นายจ้างล้มละลาย นายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายลูกจ้าง นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างงาน และลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัติ การทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. 2551 แรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดประเภทหรือลักษณะงานหรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท นายจ้าง มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่(สาขาย่อย) ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5311-2911-4 ในวันและเวลาราชการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น