พื้นที่เพื่อการเกษตร 4.0

ประชาชนคนไทยมีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งร้ายสูงติดอันดับต้นๆของประเทศ แม้แต่ภาคเหนือตอนบนก็เช่นกันถึงกับมีการตั้งศูนย์รักษาโรคมะเร็งที่จังหวัดลำปาง สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งเกิดจากสภาวะสิ่งแวดล้อมที่สกปรกและมีสารพิษเจือปน ทั้งในอากาศจากการเผาป่าหมอกควันที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งทางเดินหายใจ และอีกสาเหตุหนึ่งที่ใกล้ตัวเราก็คือพืช ผัก อาหารที่มีการเจือปนสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย ที่มีการพูดกันว่าแม้แต่เกษตรกรผู้ปลูกยังไม่กล้ากินของตัวเอง แต่กลับนำไปขายให้ประชาชนชาวบ้านนำไปรับประทาน

ข้อเท็จจริงก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามีมูลเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่าจากการเก็บตัวอย่างผัก10 ชนิด ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ และผลไม้ 6 ชนิด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวมทั้งผักผลไม้ทั้งหมด 158 ตัวอย่าง ที่ทั้งที่มีฉลากรับรองมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ ฉลากออร์แกนิกส์ ฉลากมาตรฐานคิว จีเอพี (Q GAP) คิวจีเอ็มพี (Q GMP) และที่ไม่มีฉลากรับรองมาตรฐาน โดยเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 23-29 สิงหาคมที่ผ่านมาจากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลัก และเก็บจากตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 3 แห่ง ที่รังสิต จ.ปทุมธานี จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี จากนั้นก็นำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ประเทศอังกฤษ ผลการตรวจพบที่ออกมาน่าตกใจเมื่อพบว่าผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 โดยส่วนที่จำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 70.2 ส่วนตลาดค้าส่งมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 54.2 ผักคะน้ามีสารเคมีตกค้างมากที่สุด รองลงมาคือ พริกแดง ถั่วฝักยาว กะเพรา ผักบุ้ง มะเขือเปราะ แตงกวา มะเขือเทศ กะหล่ำปลี และผักกาดขาว ส่วนผลไม้ที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุดคือส้มสายน้ำผึ้ง แก้วมังกร ฝรั่ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ทั้งที่เป็นช่วงเข้าหน้าฝนยังมีสารตกค้างจากวัตถุอันตราย แสดงว่าเกษตรกรยังมีการใช้สารเคมีมากในการปลูก

ทั้งที่สารเคมีเหล่านี้เป็นสารที่หน่วยงานภาครัฐประกาศเป็นวัตถุอันตรายห้ามใช้ก็ตาม ทั้งนี้อาจขาดความเข้าใจและอาจเป็นวัฒนธรรมของเกษตรกรในการปลูกพืชไปแล้วที่ต้องใช้สารเคมีเพราะดินมีความเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์เป็นปัญหาลูกโซ่ต่อเนื่องวนไปวนมา คำถามจากนี้ไปก็คือจะทำอย่างไรให้พืชผักผลไม้มีความปลอดภัยอย่างแท้จริงที่เชื่อถือและไว้ใจได้ นี่ขนาดเคยตรวจพบไปแล้วมาตรวจอีกก็ยังพบอีก แม้ตอนนี้กระแสของออแกนิคส์จะมาแรงแต่ก็ยังมีอยู่ในวงจำกัดและราคาค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะปลูกยากเนื่องจากต้องลงทุนสูง ใช้เวลาปรับเตรียมพื้นที่นานอาจถึง 4 ปี กว่าจะได้พื้นที่ที่เหมาะกับมาตรฐานการปลูกพืชผักออแกนิคส์ ประชาชนทั่วไปแม้อยากจะเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 อุตสาหกรรม 4.0 หรือแม้แต่ Smart Farm แต่หากให้เลือกขอให้ได้พื้นที่เพื่อการเกษตร 4.0 ก่อนดีกว่า แล้วเรื่องอาหารปลอดภัย การเสริมสร้างสุขภาพ ก็จะตามมาเอง ทวงคืนผืนป่าแล้วน่าจะหันมาทวงคืนความบริสุทธิ์ของดินและน้ำบ้างก็ดี

เขียน / รศ.ดร.ชัยยศ สันติวงษ์ 

ร่วมแสดงความคิดเห็น