“ขุนส่า” ราชายาเสพติดหรือนักรบเพื่อประชาธิปไตย

dsc_8399

“ผมไม่ได้ปลูกฝิ่น ผมต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศ ประชาชนชาวไทยใหญ่ของผมปลูกฝิ่นจริง แต่พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อความสนุก เขาต้องทำเพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวกิน ซื้อเสื้อผ้าสวมใส่สำหรับตัวเองและครอบครัว การปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นนั้น ประชาชนเราต้องการถนนเพื่อขนส่งผลผลิตเหล่านั้นไปจำหน่ายยังท้องตลาด แต่รัฐบาลพม่าไม่เคยเหลียวแลจัดสร้างถนนให้…”

dsc_8397

ข่าวการเสียชีวิตของ “ขุนส่า” เมื่อหลายปีก่อนปรากฏเป็นข่าวดังไปทั่วโลก หลายคนอาจสงสัยว่า ขุนส่า เป็นใครและทำไมเข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้

ชื่อของขุนส่าโด่งดังไปทั่วโลกในฐานะของ “ราชาแห่งยาเสพติด” เป็นที่ต้องการตัวของตำรวจสากลอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ใครเลยจะล่วงรู้ว่า กว่าวันนี้ที่จะมาเป็นขุนส่าผู้ยิ่งใหญ่ได้นั้นได้เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ผจญทั้งความทุกข์ยากลำบากหรือแม้แต่สุขสบายอยู่บนกองเงินมากมายนับไม่ถ้วนมาแล้ว

ขุนส่า หรือ จางซิฟู เกิดที่หมู่บ้านฮลาเปิง ตำบลลอยมอ อำเภอเมืองใหญ่ จังหวัดลาเซียว ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ มารดาของขุนส่าชื่อ แสงซูม เป็นชาวปะหล่อง ชนภูเขาในรัฐฉาน ส่วนบิดาชื่อ ขุนอาย มีเชื้อสายระดับเจ้าเมืองในรัฐฉาน

บิดาของขุนส่าเสียชีวิตลงเมื่อเขาอายุได้เพียง 4 ขวบ สารดาจึงได้แต่งงานใหม่กับขุนจาย เจ้าเมืองตรอม ซึ่งอยู่ใกล้กัน สองปีต่อมามารดาของขุนส่าได้เสียชีวิตลง ภายใต้การดูแลของพ่อเลี้ยงขุนยี่ส่า เจ้าเมืองลอยมอปู่ของขุนส่าจึงขอตัวกลับไปเลี้ยงและให้เข้าโรงเรียน

เมื่อญี่ปุ่นเคลื่อนพลเข้ามาในพม่า เกิดการสู้รบทั่วประเทศ ขุนส่าต้องออกจากโรงเรียน ปู่จึงช่วยหัดอ่านเขียนภาษาจีนแทน สอนวิธีปลูกชาและเลี้ยงม้าให้ ในขณะที่ขุนจา ลุงของขุนส่าได้ร่วมในกองทัพพันธมิตรสู้รบกับกองทหารญี่ปุ่น ขุนจาผู้นี้ถือว่ามีอิทธพลต่อขุนส่ามาก เพราะภายหลังสงครามสิ้นสุดขุนจามีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

ต่อมาเมื่อกองทัพก๊งมินตั๋งของเจียงไคเช็กรบแพ้กองทัพแดง ภายใต้การนำของเหมาเจอตุงและจูเอนไหล ถอยร่นเข้ามาในดินแดนรัฐฉานเมื่อปี พ.ศ.2492 ยึดเมืองลอยมอและเมืองต่าง ๆ ไว้ โดยมีการบังคับนำคนไทยใหญ่ไปใช้แรงงานในกองทัพ ออกกฏควบคุมต่าง ๆ และจัดเก็บภาษี

ปู่ของขุนส่าถูกมหารก๊กมินตั๋งบังคับเอาม้าและลาที่เลี้ยงไว้ไป เมื่อขุนส่าเห็นปู่ร้องไห้ก็รู้สึกโกรธเป็นกำลังและกล่าวว่า “พวกก๊กมินตั๋งเป็นศัตรูต่างชาติที่ต้องขับไล่ให้พ้นจากแผ่นดินเกิด” นับจากนั้นขุนส่ารวบรวมพรรคพวกในวัยเด็กตั้งกองกำลังต่อต้านทหารก๊กมินตั๋ง ปฏิบัติการโจมตีทหารก๊กมินตั๋งครั้งแรก เขาสามารถยึดอาวุธศัตรูมาได้ถึง 30 รายการ ทำให้พวกก๊กมินตั๋งโกรธมาก จับปู่ของเขาไปขังคุกพร้อมยื่นคำขาดให้ขุนส่าเอาอาวุธเหล่านั้นมาคืนพร้อมกับให้ยุติการกระทำที่เป็นปรปักษ์

หลังจากนั้นขุนส่าต้องหลบหนีซ่อนตัวตามเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน ทำให้เขารู้ว่าศัตรูต่างชาติที่เข้าไปรุกรานรัฐฉาน นอกจากทหารญี่ปุ่นและทหารก๊กมินตั๋งแล้ว ยังมีพวกกม่าอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นภายหลังสงครามต่อต้านญี่ปุ่น อูอองซาน ซึ่งเคยร่วมมือกับญี่ปุ่นสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยพม่าสู่เอกราช ได้ขึ้นเป็นผู้นำและลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง เมื่อ พ.ศ.2490 ระบุว่าจะมอบสิทธิในการปกครองตนเองให้แก่ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่อยู่ในพม่าสามารถที่จะแยกดินแดนปกครองตนเองเป็นแคว้นอิสระได้ หลังจากที่รัฐบาลประชาธิปไตยได้ปกครองประเทศให้ครบเป็นเวลา 10 ปี แต่ปรากฏว่าอูอองซานถูกลอบสังหารตาย จึงทำให้สัญญาปางโหลงที่กระทำไว้ต่อชนกลุ่มน้อยกลายเป็นสัญญาที่ถูกหักหลัง จากนั้นจึงเกิดสงครามกลางเมืองเพื่อเรียกร้องอิสระภาพของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ขึ้น หนึ่งในนั้นมีกองทัพของขุนส่าเข้าร่วมด้วย

ขุนส่าถือเอาฤกษ์วันปีใหม่ พ.ศ.2503 เป็นวันประกาศต่อสู้ โดยใช้วิธีสามัคคีกับฝ่ายหนึ่งเพื่อต่อต้านกับอีกฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากองทัพตนเองยังไม่เข้มแข็งพอ จึงเดินทางไปพบกับพันเอกหม่อง ชเว ผู้บัญชาการภาคตะวันออกของกองทัพพม่า และขุนส่าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทหารอาสาสมัคร ในวันที่ 6 มกราคม 2503 กองกำลังของขุนส่าทวีความเข้มแข็งขึ้นภายใต้ข้ออ้างต่อทางการพม่าต้องต่อสู้กับกองทหารก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่มีอิทธิพลในรัฐฉาน

dsc_8394ปี พ.ศ.2506 พื้นที่อิทธิพลขุนส่าขยายถึงเมืองเชียงตุงเลยไปถึงชายแดนลาว แต่เมื่อพม่าจัดประชุมทางทหารที่ลอยมอ วันที่ 15 มิถุนายน 2507 ขุนส่าได้รับหน้าที่ขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปถึงชายแดนไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของก๊กมินตั๋ง ขุนส่าถูกโจมตีภายหลังการส่งหนังสือเตือนไปยังนายพลหลี เวนหงวน ที่บ้านเนินแตกชายแดนไทย จึงต้องย้ายกำลังส่วนใหญ่ไปชายแดนด้านติดต่อประเทศลาว

หลังจากนั้นกองทัพก๊กมินตั๋งเคลื่อนพลเข้าโจมตีกองกำลังขุนส่าที่บ้านขวาน ชายแดนประเทศลาวการสู้รบครั้งนี้เรียกว่า “สงครามฝิ่นปี 2510” การสู้รบดังกล่าวมีการสูญเสียทั้งสองฝ่ายอย่างหนักและเมื่อขุนส่าเดินทางไปร่มประชุมพิเศษทางการทหารที่ตองยีในวันที่ 17 ตุลาคม 2512 ถูกเจ้าหน้าที่ทางการทหารพม่าจับกุมตัวในวันที่ 20 ตุลาคม ส่งตัวไปขังคุกมัณฑะเลย์ โดยถูกขังเดี่ยวเป็นเวลา 5 ปี อ่านหนังสือสามก๊กที่แต่งโดย โล กวง ชุง จนแตกฉาน

ขุนส่าได้กล่าวว่า ห้าปีในคุกมัณฑะเลย์ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ เพราะเขาได้ทบทวนสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานและวางแผนการกู้ชาติในอนาคต ต่อมาในวันที่ 7 กันยายนปี พ.ศ.2516 เจ้าฟ้าลั่นเพื่อนสนิทของขุนส่าได้วางแผนจับกุมตัวนายแพทย์ชาวรัสเซียสองคนเพื่อต่อรองกับพม่าให้ปล่อยตัวขุนส่าเป็นอิสระ หลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว ขุนส่าใช้ชีวิตเป็นเพลย์บอย เพื่อแสดงว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกู้ชาติ จนกระทั่ง 7 กุมภาพันธ์ 2519 ขุนส่าเดินทางร่วมกับกองทัพของตนที่บ้านเนินหินแตกร่วมแผน 6 ปีกับผู้นำคนอื่นเพื่อขจัดฝิ่นจากรัฐฉาน
16 เมษายน 2520 วุฒิสมาชิกเลสเตอร์วูล์ฟ ประธานกรรมาธิการยาเสพติดรัฐสภาสหรัฐฯ ส่งนายโจเซฟ เนลลิส มาเจรจากับขุนส่า ซึ่งได้รับขนานนามจากหน่วยงานด้านยาเสพติดสหรัฐและบรรดาสื่อมวลชนว่า “ราชาฝิ่น” ขุนส่าให้คำมั่นสัญญากับเนลลิสว่าจะให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการต่อต้านยาเสพติด พร้อมเสนอแผน 6 ปีเพื่อขจัดฝิ่นให้หมดจากรัฐฉาน แต่ร่างแผนนี้ถูกปฏิเสธจากคณะบริหารของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์

ภายหลังจากความพยายามทางการทูตของขุนส่าไร้ผล 21 มกราคม 2525 กำลังตำรวจตระเวนชายแดนของไทยปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นของขุนส่าที่บ้านหินแตก ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2528 ขุนส่ายอมรับหลักการ 3 ข้อเสนอของสภาปฏิวัติไทยใหญ่ คือต่อต้านรัฐบาลโครงการพรรคสังคมนิยมพม่าและต่อต้านยาเสพติด พร้อมเริ่มโครงการควบคุมและลดปริมาณการปลูกฝิ่นลง

ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและ รมต.คลังของสภาปฏิวัติไทยใหญ่และเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมืองไตนั้น ขุนส่าได้กล่าวว่า “ผมไม่ได้ปลูกฝิ่น ผมต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศ ประชาชนชาวไทยใหญ่ของผมปลูกฝิ่นจริง แต่พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อความสนุก เขาต้องทำเพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวกิน ซื้อเสื้อผ้าสวมใส่สำหรับตัวเองและครอบครัว การปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นนั้น ประชาชนเราต้องการถนนเพื่อขนส่งผลผลิตเหล่านั้นไปจำหน่ายยังท้องตลาด แต่รัฐบาลพม่าไม่เคยเหลียวแลจัดสร้างถนนให้ ส้มและผลไม้ก็พากันเน่าเสีย ส่วนฝิ่นไม่ต้องใช้ถนน เดินทางไปประเทศต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องขอบคุณพวกลักลอบค้ายาเสพติดในประเทศต่าง ๆ สำหรับตนเองนั้นถือว่ามีสองคนเท่านั้นที่ต้องการให้หยุดปลูกฝิ่นอย่างแท้จริง คนแรกคือ ผู้ปกครองของผู้ติดยาเสพติด คนที่สองคือตัวเอง ส่วนคนอื่น ๆ ต้องวุ่นวายอยู่กับการหาผลประโยชน์ทางการเมืองและด้านธุรกิจ และที่น่ากลัวคือ ถ้ายาเสพติดหมดไปจริง ๆ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยให้ประชาชนเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลพม่า เพื่อให้มีรัฐบาลของตนเอง พวกคะฉิ่นก็ได้เงินจากเหมืองหยก กระเหรี่ยงได้จากไม้สัก ส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกจำต้องปลูกฝิ่น..”

จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อขุนส่าสละตำแหน่งทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ภายหลังการสร้างรัฐฉานให้มีโรงเรียน มีโรงงานเจียระไนพลอย เจียระไนหยก โรงทอผ้า สร้างเขื่อนพลังน้ำใช้ ชาวไทยใหญ่ในดินแดนแห่งนี้ดูจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอาณาบริเวณที่ราบสูงแห่งรัฐฉานนี้ และที่น่าแปลกใจก็คือ นอกจากสาธารณูปโภคแล้ว ยังมี “ศูนย์วัฒนธรรม” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการตั้งศูนย์วัฒนธรรมขึ้นมานั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐนี้มีเอกราช มีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และความเป็นมานานนับพันปีไม่เกี่ยวข้องกับพม่า หากแต่พม่าเข้าไปครอบครองโดยที่ชาวฉานไม่ได้ยินยอมด้วย

ภายในอาคารศูนย์วัฒนธรรมแขวนด้วยรูปวาดชาวเขาแต่ละเผ่ารวมทั้งหมด 26 เผ่า ตั้งแต่ไทใหญ่ ปาโอ๊ะ ปาหล่อง มูเซอ ว้า กะฉิ่น ธนู อีก้อ ฯลฯ เรียงรายเป็นแถวยาว ตรงผนังด้านหน้าแขวนรูปของอดีตผู้ปกครองรัฐฉาน ขุนส่าระบุว่า สาเหตุที่ก่อตั้งขบวนการกู้ชาติขึ้นมาก็เพราะพม่าเบี้ยวสัญญาปางหลวงซึ่งในข้อตกลงระบุว่าจะให้อิสรภาพแก่รัฐฉานภายใน 10 ปีหลังจากที่มีการเซ็นสัญญาตกลงไปเมื่อปี พ.ศ.2500 นั่นหมายความว่าถ้ารัฐบาลพม่าปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจริง วันนี้พวกเขาก็จะกลายเป็นประชาชนผู้มีอิสระในการปกครองแผ่นดินฉานอย่างเต็มตัว
วันนี้ของขุนส่าและพี่น้องชาวไทใหญ่จึงได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมของพวกเขาขึ้นมาเพื่อแสดงให้ชาวโลกได้รู้ว่า พวกเขาไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย ทว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเติบโตและต่อสู้มาบนผืนแผ่นดินแห่งรัฐฉานมาเป็นเวลาเนินนานหลายร้อยปี

เอกสารประกอบ
กบฏเกือกเมื่อเลือดอิระวดีกรุ่น ,ธีรภาพ โลหิตกุล
บุกรังขุนส่า ,ศิลปวัฒนธรรม.2535

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น