เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูนองค์สุดท้าย

dscf0990

คำว่า “เจ้าหลวง” เป็นคำที่ใช้เรียกผู้นำสูงสุดที่ปกครองหัวเมืองเอก เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน มีฐานะเป็นเจ้าชีวิตของคนทั่วไปในรูปแบบที่เป็นชีวิตที่ใกล้เคียงกับชีวิตกษัตริย์ เพียงแต่ย่อส่วนให้พอสมกับฐานะ ผู้ที่จะเป็นเจ้าหลวงต้องได้รับการยินยอมจากเหล่าเจ้านายและจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักกรุงธนบุรีหรือกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น

ตำแหน่งเจ้าหลวง หรือ เจ้าผู้ครองนคร เริ่มขึ้นในสมัยพญาจ่าบ้าน (บุญมา) หลังจากที่พญาจ่าบ้านได้ร่วมกับพระเจ้ากาวิละขับไล่พวกพม่าพ้นไปจากล้านนาแล้ว พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาพญาจ่าบ้านเป็นพระยาเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นเจ้าหลวงองค์แรกแห่งนครเชียงใหม่ แต่เวลานั้นพญาจ่าบ้านก็มิได้ครองเชียงใหม่ด้วยมีไพร่พลน้อยเกินกว่าจะดูแลเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทิ้งร้างมานานได้

จนมาในสมัยของพระเจ้ากาวิละแห่งตระกูลเจ้าเจ็ดตน บทบาทและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็เริ่มชัดเจนขึ้น อาทิ การขึ้นเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่จะต้องผ่านพิธีตามโบราณราชประเพณีแต่ครั้งราชวงศ์มังรายคือ พิธีราชาภิเษกและพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การได้รับเครื่องยศอันเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทย พระเจ้ากาวิละได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 ซึ่งเป็นต้นสกุล “เจ้าเจ็ดตน” และต้นราชสกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง

พระเจ้ากาวิละได้นำรูปแบบการปกครองของสยามเข้ามาใช้ปกครองเมืองเชียงใหม่โดยมีการตั้ง เจ้าหอหน้า หรือ เจ้าอุปราช หรือ เจ้าวังหน้า และเจ้าเมืองแก้ว หรือ เจ้าบุรีรัตน์ หรือ เจ้าวังหลัง และแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะปกครองระดับสูง ประกอบด้วย พระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้านและพระยาเด็กชาย กระทั่งต่อมาในสมัยของพระยาคำฝั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3 ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขันทั้งห้า หรือ เจ้าขันห้าใบ คือเจ้านายห้าองค์ที่มีพานเป็นเครื่องประกอบยศ มีเจ้าหลวงเป็นประธาน มีเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าราชบุตร ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าตำแหน่งเจ้านายฝ่ายเหนือของล้านนา สืบเชื้อสายมาจากวงศ์เจ้าเจ็ดตนทั้งสิ้น ซึ่งได้ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูนdscf0020

เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ หรือ พลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายนับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่การปกครองเมืองลำพูน นอกจากนั้นท่านยังสืบสายสกุลมาจากเจ้าเจ็ดตน ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยจักรคำ ณ ลำพูน เป็นราชบุตรองค์ที่ 3 ของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 9 กับแม่เจ้ารถแก้ว สมภพเมื่อวันพุธ ขึ้น 15 เดือน 6 ตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2418 ณ คุ้มหลวงลำพูน ภายหลังที่เจ้าบิดาทรงพิราลัยแล้ว ท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 เมื่อปี พ.ศ.2454 และได้ทรงนครลำพูนยืนยาวกว่าเจ้าผู้ครองนครองค์อื่น ๆ ทั้งหมดถึง 32 ปี

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธุ์ไพจิตร เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 8 สมัยที่เจ้าบิดาคือเจ้าอินทยงยศโชติ เป็นเจ้าหลวงลำพูนนั้น เจ้าจักรคำจขรศักดิ์ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาชั้นพานทอง ดำรงตำแหน่งพระยาวังขวาเมืองลำพูน ปี พ.ศ.2451 ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาคลัง กระทั่งได้รับพระราชทานเลื่อนสัญญาบัตรขึ้นเป็นเจ้าบุรีรัตน์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนเมื่อปี พ.ศ.2454 แทนเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าบิดาซึ่งทรงพิราลัย
สมัยที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์นั้นเป็นเวลาที่พระองค์ทำชื่อเสียงในการปราบปรามโจรผู้ร้ายซึ่งมีอย่างชุกชุมสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฏร ไอ้เสือที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมัยเป็นเจ้าบุรีรัตน์ปราบมาแล้วล้วนแต่เป็นโจรที่มีชื่อเสียงและโหดเหี้ยมอย่างมาก เช่น เสือมอย จอมโจรผู้ฆ่าคนเป็นยอดแห่งความอำมหิต กับเสือติ๊บผู้เป็นเจ้าของแผนการนำพวกเงี้ยวมาปล้นบ้านเจ้ามหาวงศ์ ณ เชียงใหม่ บ้านสันทรายใต้ อำเภอสารภี สายลับนำความแจ้งให้เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ทราบจึงช่วยกันล้อมจับ

dscf0032

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ นอกจากจะมีชื่อเสียงและฝีมือในการปราบโจรผู้ร้ายแล้ว ในด้านการปกครองบ้านเมืองทรงก็ทรงมีความใส่ใจดูแลอาณาประชาราษฏรของพระองค์ให้อยู่ดีกินดี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสหัวเมืองเชียงใหม่และลำพูน ในปีพ.ศ. 2469 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้ร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้ร่วมในกระบวนเครื่องพระขวัญฝ่ายเจ้านายพื้นเมืองอันมีหลายคู่ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้จับคู่กับเจ้าราชวงศ์แห่งนครลำปาง และในฐานะผู้ทำพิธีทูลพระขวัญขึ้นสู่พลับพลาและผู้รับสมมุติยกพระกรณ์ ได้ร่วมกับเจ้าแก้วนวรัฐ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเจ้าหญิงจามรี ทำหน้าที่นี้ด้วยความเรียบร้อย

ปีพ.ศ. 2469 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง หากเจ้าหลวงเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นอีก ดังนั้นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูนก็คือ พลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำพูนตั้งแต่ พ.ศ.2454 ในรัชกาลที่ 6 และถึงแก่พิราลัยในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2486 ชนมายุได้ 69 ปี

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น