รายงานพิเศษ…กองทุนออมทรัพย์“บ้านสันต้นแหน” จุดเริ่มต้นสู่ความพอเพียงในชุมชน

b-7-jpg กว่า 200 ปี ที่ชาวลัวะอพยพเข้ามาตั้งรกรากในบ้านสันต้นแหน ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และประกอบอาชีพอย่างหลากหลาย ทั้งรับจ้างทั่วไป แกะสลัก ทำการเกษตร เลี้ยงวัว ค้าขายโดยอาชีพหนึ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน คือการทำ“โครงร่ม” หรือในท้องถิ่นเรียกว่า“โครงจ้อง” ที่ปัจจุบันยังสืบต่อกันมา และกลายเป็นหมู่บ้านหลักที่ทำโครงร่มส่งบ้านบ่อสร้าง แหล่งผลิตร่มขึ้นชื่อของ จ.เชียงใหม่

วิถีชีวิตที่เรียบง่าย สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ในปี 2554 บ้านสันต้นแหน หมู่ 3 ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา และยังได้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอันดับ 4 ระดับจังหวัด ในการประกวดของกรมการพัฒนาชุมชนอีกด้วย

กองทุนออมทรัพย์ขจัดหนี้นอกระบบ

สุภชัย ไชยเทพ ผู้ใหญ่บ้านสันต้นแหน และหัวหน้าโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่บ้านสันต้นแหน หมู่ 3 เล่าว่ากว่าจะเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าจากสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ปัญหาเงินกู้นอกระบบ ชาวบ้านเคยกู้เงินมาใช้จนดอกทบต้น กลุ่มทวงหนี้สวมหมวกกันน็อคขับรถมอเตอร์ไซด์วิ่งเข้า-ออกในหมู่บ้าน ลูกหนี้บางรายเกิดความกลัวและจนตรอกไม่สามารถใช้หนี้ได้ ก็มาขอให้ช่วยไกล่เกลี่ย ทำให้ทราบว่าจากหนี้แค่ 10,000 บาท พอทบต้นทบดอกไปมาก็ขยับขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นหลายหมื่นบาท และเจ้าหนี้เห็นว่าติดตามยากก็ขายหนี้ให้คนทวงในราคาถูก ไกล่เกลี่ยแล้วคนทวงเห็นใจก็ลดให้เหลือ 15,000 บาท กระนั้นลูกหนี้ก็ยังไม่มีเงินจ่าย ต้องนำเงินจากกองทุนออมทรัพย์ของหมู่บ้านออกมาช่วย

“เป็นกองทุนที่ชาวบ้านร่วมกันออม ตั้งบแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยออมอย่างต่ำคนละ 50 บาท/เดือน จนถึงขณะนี้มีเงินกว่า 1.5 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ใช้ซื้อหนี้นอกระบบ เมื่อปลดภาระหนักให้ชาวบ้านได้แล้ว เขาก็ต้องทยอยชำระหนี้กองทุน ซึ่งคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาท/ปี หรือหากใครต้องการกู้ซื้อรถจักรยานยนต์เพื่อใช้เดินทางไปทำงานทางคณะกรรมการกองทุนก็จะจ่ายเงินสดให้ร้านค้า แล้วให้ชาวบ้านเป็นลูกหนี้กองทุน ไม่ต้องแบกรักภาระดอกเบี้ยที่สูงมาก” ศุภชัย กล่าว

นอกจากนี้เงินกองทุนยังถูกใช้เป็นสวัสดิการภายในหมู่บ้าน เช่น กรณีมีเด็กเกิดใหม่ จะได้รับบัญชีขวัญถุง 500 บาท สำหรับคนเจ็บป่วย เข้าโรงพยาบาล ก็จ่ายให้คืนละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 10 คืน/ปี และในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ก็มีสิ่งของไปรดน้ำดำหัวหรือถ้าริเริ่มโครงการใหม่ๆ ขึ้น เช่น การปลูกผักปลอดสารเคมี ก็จะเจียดเงินไปซื้อเมล็ดพันธุ์พืชผักแจกจ่ายชาวบ้าน เป็นต้น

ปลูกผักปลอดสาร สร้างเสริมสุขภาพลดรายจ่ายในครัวเรือน

จันทร์เพ็ญ ไชยเทพ ผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่บ้านสันต้นแหน หมู่ 3 เล่าว่า ในส่วนของการปลูกผักปลอดสารนั้น ก่อนหน้านี้ใครจะปลูกผักในบ้าน ก็คิดว่าซื้อกินแค่มัดละ 5 บาท เอาเวลาไปนั่งเย็บผ้า หรือทำงานอย่างอื่นดีกว่า ทุกคนมัวแต่ไล่ล่าหาเงิน แล้วนำเงินมาซื้อของกิน กว่าจะรู้ตัวหลายคนก็เป็นมะเร็งลำไส้ เบาหวาน ความดัน มีสารพิษตกค้างในเลือด อันเป็นที่มาของความตื่นตระหนก และเกิดความต้องการผักปลอดสารเคมี จึงเข้าร่วมเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของพัฒนาชุมชน มีการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อหาทางลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ รวมถึงปรับพฤติกรรมในการกิน

ชาวบ้านบางรายที่เริ่มหันมาปลูกผักไว้กินเอง แต่ยังปลูกแบบสะเปะสะปะ คิดอยากปลูกอะไรก็ปลูกทันที ไม่เตรียมการล่วงหน้า ผลผลิตที่ได้ก็ไม่ค่อยดี ซ้ำข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้การขยายผลช้า แกนนำหมู่บ้านจึงได้หารือกัน และสมัครเข้าโตรงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง ขยายผลให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน

“จากช่วงแรกๆ ที่แกนนำ ร่วมกับครัวเรือนที่ชอบปลูกผักอีก 4-5 หลัง เพาะกล้าพันธุ์พืชแจกให้ชาวบ้าน โดยเน้นว่าแต่ละครัวเรือนไม่จำเป็นต้องปลูกทุกอย่าง ปลูกแค่ 1-2 อย่าง แต่ในภาพรวมของหมู่บ้านให้มีพืชผักที่หลากหลาย เมื่อผักโตก็แบ่งกันกิน ถ้าเหลือจากกินถึงจะขาย มาถึงตอนนี้ มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการมากกว่า100 ครัวเรือน และบางหลังคาเรือนปลีกเวลามาร่วมทำกิจกรรมในโครงการไม่ได้ ก็เจียดใช้พื้นที่ว่างในบ้านปลูกผักไว้กินเองเช่นกัน” ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าว

ล่าสุดจึงได้ขอใช้พื้นที่โรงเรียนร้าง 1 ไร่ครึ่ง ทำแหล่งเรียนรู้ชุมชน และตลาดสีเขียว ในชื่อ“ตลาดประชารัฐชุมชนบ้านสันต้นแหน” ไว้แลกเปลี่ยนสินค้า เพราะเชื่อว่าถ้ามีตลาดใกล้ชุมชน ชาวบ้านจะปลูกพืชผักปลอดสารเคมีมากขึ้น ช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

b-11-jpg

ทำสวนครัวกลาง ทุกคนมีสิทธิเก็บกิน

นอกจากการปลูกผักในครัวเรือน ยังมีพื้นที่ส่วนกลางร่วม 200 ตารางวา ที่เจ้าของปล่อยรกร้างจนเกิดไฟไหม้ทุกปี ทางสภาผู้นำชุมชนจึงให้นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ ติดต่อขออนุญาตใช้พื้นที่จากเจ้าของ และนำมาทำสวนครัวชุมชน 50 แปลง บางบ้านที่ไม่มีพื้นที่ปลูกผัก หรือบางคนไม่มีเวลา แต่มีเมล็ดพันธุ์ ผักผลไม้ ก็นำมาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูก และผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล เมื่อพืชผักงอกงาม ทุกคนในหมู่บ้านก็สามารถเก็บกินได้ หรือหากมีมากจนเหลือขาย ก็จะเก็บไว้เป็นเงินกองกลาง เพื่อนำมาซื้อน้ำมันไว้ตัดหญ้า

ในปีที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งอย่างหนัก พืชผักของชาวบ้านและสวนครัวกลางได้รับผลกระทบ ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง บ่อน้ำธรรมชาติแห้งขอด ชาวบ้านต้องสำรองน้ำในถัง และทำบ่อขนาดเล็กไว้ที่สวนครัวกลาง ขณะเดียวกันก็ใช้นวัตกรรมจักรยานวิดน้ำ มาช่วยในการดึงน้ำในบ่อไปรดพืชผัก แล้วเติมน้ำใหม่เข้าไปแทน ป้องกันการเกิดน้ำเน่าเสีย และเมื่อผักสวนครัวรุ่นแรกหมด ก็เปลี่ยนจากการปลูกในดินขึ้นมาใส่ในกระถาง หรือภาชนะ เพื่อประหยัดน้ำ หนีการระบาดของหอย และสะดวกในการดูแล

“นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนำ“แฮ้ว” หรือ “แร้ว” อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการล่ามวัว-ควาย ไม่ให้เชือกพันหลัก มาประยุกต์ใช้กับการดึงน้ำในบ่อมารดน้ำผักได้อีกด้วย และไม่เพียงแค่ปลูกผักสวนครัว ในโครงการยังมีการทำปุ๋ยหมักจากซากฟาง ใบไม้ ขี้วัว ที่ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้ พอยุ่ยสลายก็ใส่ตะกร้าปลูก หรือนำไปบำรุงผักสวนครัว ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านบริโภคพืชผักที่ปลูกเอง ก็พบว่าอาการป่วยไข้ เช่น ปวดท้อง เป็นไข้ ภูมิคุ้มกันต่ำ ที่ต้องไปรักษาในโรงพยาบาลลดลง เช่นเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่เป็นความดัน เบาหวาน น้อยลง” จันทร์เพ็ญ กล่าว

b-10-jpg

 ปลูกผักกินเอง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกาย-ใจ

“ป้าหลง” ลินดา สรรพสิทธิ์ เจ้าของครัวเรือนต้นแบบ 1 ใน 10 หลังคาเรือนของบ้านสันต้นแหน บอกว่า เมื่อก่อนเคยทำงานนวดแผนโบราณ และนวดประคบ แต่ระยะหลังสุขภาพไม่เอื้ออำนวย รู้สึกปวดเข่า และมีไขมันในเลือดสูง จึงหยุดมาปลูกผักอยู่กับบ้าน พยายามปลูกทุกอย่างที่หาเมล็ดพันธุ์ได้ ทำปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง จนสุขภาพที่ทรุดโทรมเริ่มดีขึ้นวันไหนรู้สึกจะเป็นไข้ พอขุดดินทำสวน อาการจะหายไป หรือเจ็บคอก็กินสมุนไพรฟ้าทลายโจร และรางจืดไม่ต้องไปหาหมอ สุขภาพจิตก็ดีขึ้นจากการเฝ้าดูแลพืชผัก เมื่อออกดอกออกผล จะรู้สึกดีใจมาก นำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน ชีวิตไม่เงียบเหงา ทั้งยังได้ความรู้ใหม่ในการขยายพันธุ์ผักไผ่ ที่ปกติมักถูกปล่อยให้ขึ้นสูงจนออกดอกแล้วตาย ในการทดลองขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดมากปักชำในขวดแก้ว 4-5 วันก็งอกรากใหม่ นำไปปลูกในดินได้

นับเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมาใช้ เพราะชาวบ้านสันต้นแหนตระหนักดีว่าการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินอย่างเดียว ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เมื่อไม่สบายไปหาหมอที่โรงพยาบาล จะเสียทั้งเงินและเวลา ตรงกันข้ามหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แล้วเจียดแบ่ง 5-10 นาทีต่อวัน ในการรดน้ำ พรวนดิน ก็จะเป็นการออกกำลังกาย ได้ทั้งสุขภาพที่ดี และช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน.

ร่วมแสดงความคิดเห็น