เกษตรวันนี้ขอตามรอยพ่อ…ที่หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น

เกษตรวันนี้ เรามาตามรอยพ่ออีกผืนป่าหนึ่ง ครั้งที่พระองค์ได้เสด็จมายังจุดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จทรงงานหน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่นเป็นการฟื้นฟูต้นไม้และต้นน้ำ
“เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาป่าไม้ด้วยตนเอง……” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ด้านการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ณ หน่วยพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ้อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น สังกัดศูนย์จัดการต้นน้ำแม่แตง ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๗ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่ทรงต้องการให้ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร โดยเริ่มจากโครงการบริเวณดอยสามหมื่น ทั้งนี้เนื่องจากสภาพป่าในบริเวณดังกล่าวถูกทำลายจำนวนมาก โครงการหลวงภาคเหนือได้มีหนังสือที่ ๑๒๘/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๗ ให้กองอนุรักษ์ต้นน้ำ (ในขณะนั้น) กรมป่าไม้ เข้าดำเนินการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพต้นน้ำลำธารที่ดอยสามหมื่น จำนวน ๒๐๐ ไร่ โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้รับสนองพระราชดำริจัดหางบประมาณมาดำเนินการ ต่อมาในปี ๒๕๑๘ กรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจนถึงปี ๒,๕๔๗ รัฐบาลได้ปฏิรูประบบราชการจัดแบ่งส่วนราชการใหม่ เป็นหน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม

ที่ตั้งและอาณาเขต หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น มีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานตั้งอยู่ที่บ้านเมืองคอง หมู่ที่ ๑๖ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย ๑,๔๐๐ เมตร มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งสิ้น ๒๒๒,๕๐๐ ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำสาละวิน พื้นที่จัดการของหน่วยต้นน้ำดอยสามหมื่น อยู่ในอุทยานแห่งชาติผาแดง ประมาณ ๙๒,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอุทยานห้วยน้ำดัง ประมาณ ๑๓๐,๗๐๐ ไร่ รวมพื้นที่ประมาณ ๒๒๒,๗๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่จัดอยู่ในเขตลุ่มน้ำคุณภาพลุ่มน้ำชั้น ๑ และชั้น ๒ เหลือพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่บริการ

พื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีที่ราบเล็กน้อยบริเวณหุบเขา เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำของลำน้ำปายและน้ำแม่แตง จุดสูงสุดของพื้นที่คือยอดดอยช้าง มีชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปาย ๓ หมู่บ้าน ลุ่มน้ำแม่แตง ๑๒ หมู่บ้าน รวมเป็น ๑๕ หมู่บ้าน การจัดการชุมชนในพื้นที่ จำนวน ๖,๗๑๖ ไร่ หรือเฉลี่ย ๑๔ ไร่ต่อครัวเรือน เป็นพื้นที่ถือครองอย่างถูกต้อง มีเอกสารสิทธิ์รับรอง ๓๒๘ ไร่ พื้นที่ที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารรับรองสิทธิ์ใด ๆ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน พืชหลักที่ปลูก ได้แก่ ท้อ บ๊วย พลัม พลับ สาลี่ กาแฟ และมะม่วง โดยปลูกคละกัน ส่วนในพื้นที่ว่างระหว่างไม้ผลจะปลูกพืชไร่ พืชผักสวนครัว พืชอาหารหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล มีทั้งข้าวไร่เพื่อการบริโภค ข้าวโพดเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ พันธุ์พืชบนดอยสามหมื่น เป็นป่าดิบเขาที่มีต้นสนเขา ไม้สำคัญเป็นไม้ตระกูลก่อ ได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ไม้อื่น ๆ ได้แก่ พญามะขามป้อมดง หว้า จำปีป่า ทะโล้ มณฑาป่า ไม้พื้นล่างเป็นพวกตระกูลเฟิร์น สัก เก็ดแดง เก็ดดำ กว้าว ตะแบก เปล้า ปอขาว ส้าน มะค่าโมง ยมหิน ยมหอม รกฟ้า ไม้พื้นล่างเป็นพวกหญ้าและไผ่ต่าง ๆ

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ลักษณะโครงสร้างในแนวตั้งและแนวนอนของป่าในพื้นที่ สามารถแยกออกเป็น ๕ ชนิด คือ ป่าดิบเขา ป่าดิบเขาผสมสนสามใบ ป่าเต็งรังผสมสวนสองใบ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดอยสามหมื่น ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ ลีซอ ๘๕๖ คน คนไทยพื้นเมือง ๔๕๘ คน และมูเซอ ๑๙๒ คน พักอาศัยมากที่สุดคือบ้านดอยสามหมื่น หมู่บ้านในพื้นที่ ได้แก่ บ้านมูเซอป่ากล้วย บ้านน้ำรู บ้านป่าเกี๊ยะใหม่ บ้านแม่สลา บ้านแม่แพลม บ้านดินดำ บ้านบวกควาย ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว บ้านสามหมื่น ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านดอยช้าง บ้านหัวแม่เย็น บ้านหัวแม่เมือง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
การเสด็จทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์

วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เสด็จทรงงานที่บ้านสามหมื่น ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ ๖๑ หลังคาเรือน ประชากร ๓๑๗ คน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนเข้าเฝ้ารับเสด็จ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้าน พระราชทานสมุด ดินสอ และขนมหวานแก่เด็ก ชมชาวลีซอแสดงการละเล่นถวายทอดพระเนตร หลังจากนั้น ทรงพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงผักของชาวบ้าน และเสด็จ ฯ เข้าไปในบ้านของนายเลาซาง เลายี่ปา ผู้ใหญ่บ้านสามหมื่น ทรงมีพระราชดำรัชกับผู้ใหญ่บ้านเรื่องการเลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูก เสด็จทอดพระเนตรการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงเรียนเบญจมะ

วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จไปยังโรงเรียนเบญจมะ พระราชทานเสื้อกันหนาว ผ้าห่ม สมุด ดินสอ แก่ราษฎรและนักเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสกับนายเล่าซาง เล่ายี่ปา ผู้ใหญ่บ้าน ให้ทำการสำรวจแหล่งน้ำตามบริเวณกิ่วเขา เพื่อทำฝายกั้นน้ำนำมาใช้ในหมู่บ้าน และควรส่งเสริมการปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นพืชที่ทำรายได้ดี ทั้งนี้ควรปลูกถั่วมะแฮะควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ร่มเงาแก่ต้นกาแฟและช่วยบำรุงดิน จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปตามไหล่เขาเป็นระยะทาง ๑ กิโลเมตรเศษ เพื่อทอดพระเนตรผลงานการปลูกป่าทดแทนของโครงการหลวงพัฒนาป่าไม้

ทรงพระราชดำเนินไปยังหน่วยโครงการหลวงป่าไม้พัฒนา หน่วยที่ ๙ เมื่อเสด็จถึง นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ หัวหน้าหน่วย ฯ กราบบังคมทูลถวายรายงานการปลูกป่าทดแทน วันศุกร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จที่สถานีโครงการหลวงพัฒนาชาวเขา หมู่บ้านหลัก บ้านสามหมื่น เสด็จไปยังโรงเรียนเบญจมะ ทรงทอดพระเนตรสาธิตการสีข้าว การปอกเปลือกเมล็ดกาแฟ และการปอกข้าวโพดด้วยอุปกรณ์ที่ใช้วิธีโยกด้วยกำลังคน เจ้าหน้าที่ได้ถวายรายงานการจัดทำทุ่งหญ้าบริเวณไหล่เขา โครงการขยายพื้นที่การปลูกกาแฟ ทดแทนพื้นที่การปลูกฝิ่น เสร็จแล้วพระราชดำเนินไปยังโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำ หน่วยที่ ๙ บ้านน้ำรู ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ระหว่างทางได้ทอดพระเนตรการปลูกป่าทดแทนเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒,๓๐๐ ไร่

ทรงทอดพระเนตรแผนที่และมีพระราชดำรัสว่า ควรมีการสำรวจแหล่งน้ำบริเวณห้วยน้ำรูและบ้านสามหมื่น เพื่อหาทางปิดกั้นน้ำเพื่อส่งไปใช้ที่สถานีโครงการหลวงพัฒนาชาวบ้าน บ้านสามหมื่น วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว เสด็จยังดอยสามหมื่น ทรงทอดพระเนตรไร่กาแฟของราษฎร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา และให้ขยายพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎรด้วย ทรงพระราชทานทรัพย์และพระราชดำรัสให้กรมชลประทาน พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๐ สมเด็จเจ้าฟ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยี่ยมดอยสามหมื่นและโครงการหลวงพัฒนาที่ ๙ (ห้วยน้ำรู) ทรงเยี่ยมชมการเก็บ ปอกเปลือก หมัก ล้าง และตาก กาแฟอราบิก้า จากนั้นเสด็จประทับที่พระตำหนักเอื้องเงิน เขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรป่าในพื้นที่หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น และป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารห้วยงุม ที่เป็นต้นน้ำสายหนึ่งของลำน้ำแม่แตงที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ทรงปล่อยกระรอกบินเล็กสีส้ม จำนวน ๕ ตัว ทรงปล่อยเต่าปูลู ซึ่งมีลักษณะหัวใหญ่ หางยาวกว่ากระดอง เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ของต้นน้ำ เนื่องจากกระรอกบินชอบหากินกลางคืน ชอบกินผลไม้เป็นหลัก ส่วนเต่าปูลูจะคอยควบคุมปริมาณของปูในแหล่งต้นน้ำลำธารไม่ให้มีมากเกินไป ทรงก่อสร้างฝายต้นน้ำด้วยไม้ไผ่และทรงลงพระนามาภิไธยบนแผ่นป้ายฝายพระราชทาน ทรงนำไม้ปิดกั้นน้ำเพื่อยกระดับน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อใช้เก็บกักน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นและดักตะกอนดิน ชะลอความเร็วการไหลของน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันการกัดเซาะหน้าดินและป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน เรียกกันสั้นและง่าย ๆ ว่า ฝายแม้ว ช่วยให้ราษฎรสามารถทำนาตามขั้นบันไดในพื้นที่ได้ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่

ผศ.ดร.เรืองชัย

ที่สำคัญคือ คนอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต่อมาวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินกางเต้นท์ประทับแรม ณ บริเวณป่าต้นน้ำห้วยน้ำงุม ในพื้นที่จัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น ทรงศึกษาธรรมชาติและทรงลงพระนามาภิไธยบนก้อนหินที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินผ่าน เพื่อเป็นที่ระลึกว่าได้ทรงพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ ป่าต้นน้ำแห่งนี้ ทรงปลูกต้นมณฑาดอกแดงและต้นก่วมแดง ซึ่งเป็นไม้ไทยที่หายาก ทรงมีพระราชดำริหลายประการให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับต้นน้ำดอยสามหมื่น เพราะสภาพป่าแห่งนี้มีลักษณะพิเศษของระบบนิเวศน์ คือเป็นแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ ป่าเป็นป่าดงดิบเขาที่มีเรือนยอดปกคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ ๗๐ ของดอยสามหมื่น

การบริหารจัดการของชุมชน พื้นที่ป่าดอยสามหมื่นที่เคยถูกบุกรุกแผ้วถางจนเตียนโล่งเพื่อปลูกพืชเสพติด พืชไร่ในอดีตนั้น ได้รับการจัดการโดยคนในชุมชนเองจนมีความอุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้เนื่องด้วยมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดตั้งเป็นองค์กรเครือข่ายจากตัวแทน ๙ หมู่บ้านร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยมีนายยงยุทธ หรี่จา เป็นประธานคณะกรรมการ นายรุ่ง หิรัญวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ เป็นที่ปรึกษา กรรมการทุกคนจะเป็นแกนนำในการพัฒนาและเป็นตัวอย่างในด้านต่าง ๆ

จัดประชุมเครือข่ายทุก ๒ เดือน เพื่อนำปัญหาภายในหมู่บ้านแต่ละแห่ง เข้าที่ประชุมแก้ไขปัญหาร่วมกันก่อนนำไปปฏิบัติ กำหนดกติการ่วมกัน เช่น คณะกรรมการจะควบคุมพื้นที่ทำกิน การดูแลแบ่งพื้นที่ทำกิน ผู้ใดมีพื้นที่ทำกินอยู่แล้วและมีมากไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นเวลา 1 ปี จะต้องแบ่งปันให้คนอื่นในหมู่บ้าน หรือหากมีผู้นำไปขายต่อให้ผู้อื่น คณะกรรมการมีอำนาจยึดและจัดสรรให้ผู้อื่นต่อไป ห้ามมิให้เปิดที่ทำกินนอกพื้นที่เขตลุ่มน้ำ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท และยึดพื้นที่คืนด้วยและห้ามกระทำใด ๆ ในพื้นที่นั้น การขายพื้นที่ทำกินเก่า จะต้องขายให้แก่คนในหมู่บ้านหรือตกทอดแก่ทายาทเท่านั้น การเตรียมพื้นที่ให้ทำแนวกันไฟด้วย และเมื่อจะเผาเศษพืชเพื่อปลูกพืชจะต้องแจ้งกรรมการทุกครั้ง ฯลฯ นอกจากนี้คณะกรรมการยังออกกฎระเบียบของชุมชนครอบคลุมถึงเรื่อง การป้องกันยาเสพติด การใช้สารเคมี และป้องกันปัญหาสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นประกอบกันไปด้วย

ผู้เขียนขอขอบคุณนายรุ่ง หิรัญวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น และนายรุ่ง รมรณกาจ ผู้ช่วยหน่วย ฯ ในการให้ข้อมูลและนำผู้เขียนติดตามงานในพื้นที่ดอยสามหมื่น และขอแสดงความยินดีกับนายรุ่ง หิรัญวงษ์ ในโอกาสย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-5694-2132

[email protected]
ท.ลุงเกษตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น