คำนึงถึงรอยอดีต…วัดศรีชุมเมืองลำปาง

วัดศรีชุม เป็นวัดพม่าที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด คือมีทั้งพระวิหาร พระอุโบสถ พระธาตุเจดีย์ กุฏิและซุ้มประตูแบบพม่าทั้งหมด จุดเด่นของวัดอยู่ที่วิหารปราสาทหอสวดมนต์ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้แบบพม่า มณฑปจตุรมุขทรงพระยาธาตุมีหลังคาซ้อนกันหลายชั้นแต่ละชั้นลดหลั่นถึง 7 ชั้นขึ้นไปหาเรือนยอด ชั้นบนสุดประดับด้วยฉัตรทองคำ พระวิหารมีมุขบันไดทางขึ้น 2 ทางแกะสลักลวดลายละเอียดวิจิตรพิศดาร ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลงรักปิดทอง เรื่องพระพุทธประวัติและแผนผังจำลองของวัด เพดานเป็นไม้จำหลักโปร่งหลายชั้นประดับกระจกสีลวดลายของเพดานแต่ละช่องจะแตกต่างกันไป

หลังจากที่วิหารวัดศรีชุมถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2535 วิหารวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปกรรมพม่าสวยงามที่สุดและเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยได้อันตธานหายไปพร้อมกับเปลวเพลิงที่ลุกโชติช่วง แม้ว่าตอนหลังกรมศิลปากรจะได้มีการบูรณะพระวิหารขึ้นมาใหม่ตามแบบของเดิมทุกอย่างทว่าคุณค่าแห่งกาลเวลาไม่สามารถจะลบรอยคราบน้ำตาที่ยังสะท้อนต่อการสูญเสียศิลปกรรมอันงดงามของบรรพชนที่ได้สร้างไว้ในหัวใจของชาวบ้านวัดศรีชุมไปได้

กลางดึกของคืนวันที่ 15 มกราคม 2535 หลังจากที่กลุ่มควันไฟลอยพุ่งขึ้นสู่ฟ้า เปลวเพลิงขนาดมหึมาสร้างความสว่างไปทั่วบริเวณแสงหวูดหวอของรถดับเพลิงดังกึกก้องเป็นเสมือนสัญญาณปลุกให้ชาวบ้านตื่นขึ้นมาช่วยกันเอาน้ำมาดับพระเพลิงที่กำลังโหมไหม้วิหารวัดศรีชุมซึ่งเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง แต่ยิ่งช่วยกันดับก็เหมือนเป็นการเร่งไฟ เป็นเวลานานหลายชั่วโมงกว่าที่เพลิงจะสงบลง สิ่งที่เห็นเบื้องหน้าของทุกคนที่คือซากปรักหักพังของอาคารที่โดนไฟเผาและรอยน้ำตาของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เติบโตขึ้นในระแวกวัดศรีชุม

แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 10 ปีแต่เชื่อว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นจะยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวลำปางไปอีกนานแสนนาน…

เรื่องราวของการสร้างวัดพม่าในเมืองลำปางนั้นเริ่มต้นเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน สมัยที่ประเทศไทยเริ่มรู้จักการทำป่าไม้โดยเฉพาะไม้สักที่มีอยู่มากมายในภาคเหนือ แม้จะเริ่มรู้จักการทำไม้แล้ว แต่คนไทยในสมัยนั้นก็ยังไม่มีความชำนาญในการทำไม้อย่างถูกต้อง รัฐบาลไทยจึงได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในการทำไม้ชาวอังกฤษชื่อนาย เอช.สเลด ซึ่งเคยทำไม้อยู่ในพม่ามาก่อน ต่อมานายช่างชาวอังกฤษผู้นี้ก็ได้นำลูกน้องชาวพม่าเข้ามาช่วยทำไม้ในประเทศไทยด้วย ต่อจากนั้นก็มีพ่อค้าชาวพม่าเดินทางเข้ามาทำไม้อยู่ในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น สร้างความร่ำรวยให้กับชาวพม่าเหล่านั้น หลังจากที่พ่อค้าชาวพม่ามีฐานะขึ้นจากการทำไม้และด้วยเหตุที่พวกเขานับถือพุทธศาสนาจึงได้คิดที่จะสร้างวัดวาอารามขึ้น ผนวกกับความเชื่อในเรื่องผีสางนางไม้ที่สิงสถิตย์อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ที่ถูกโค่นลงทุกวันและเพื่อเป็นการไถ่บาปต่อผีสางนางไม้ จึงเป็นแรงบันดาลใจแห่งการสร้างวัดพม่าขึ้น

วัดศรีชุมได้ชื่อว่าเป็นวัดพม่าที่สวยงามที่สุดในประเทศไทยจากบรรดาวัดพม่าที่อยู่กว่า 31 แห่งทั่วประเทศ จนมีคำกล่าวไว้ว่า หากต้องการจะชมวัดพม่า ให้มาที่วัดศรีชุม วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อราว 100 กว่าปี โดยคหบดีพ่อค้าไม้ชาวพม่า แต่เดิมบริเวณก่อนที่จะมีการสร้างวัดศรีชุมนี้เคยเป็นวัดเล็ก ๆ มาก่อน มีเพียงศาลา บ่อน้ำและต้นโพธิ์เท่านั้น ต่อมาปีพ.ศ.2433 จองตะก่า อู โย (Kyuang Daga U Yo) คหบดีชาวพม่าพร้อมกับพ่อเลี้ยงอู หม่อง ยี (U Maung Gyi) บุตรเขย ได้ทูลขออนุญาตเจ้าเมืองลำปาง (เจ้าหลวงนรนันทชัย ชวลิต 2430-2440) สร้างวัดขึ้นโดยตั้งชื่อเป็นภาษาพม่าว่า “หญ่องไวง์จอง” ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดศรีชุม” ซึ่งแปลว่า “ต้นโพธิ์”

วัดศรีชุม เป็นวัดพม่าที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด คือมีทั้งพระวิหาร พระอุโบสถ พระธาตุเจดีย์ กุฏิและซุ้มประตูแบบพม่าทั้งหมด จุดเด่นของวัดอยู่ที่วิหารปราสาทหอสวดมนต์ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้แบบพม่า มณฑปจตุรมุขทรงพระยาธาตุมีหลังคาซ้อนกันหลายชั้นแต่ละชั้นลดหลั่นถึง 7 ชั้นขึ้นไปหาเรือนยอด ชั้นบนสุดประดับด้วยฉัตรทองคำ พระวิหารมีมุขบันไดทางขึ้น 2 ทางแกะสลักลวดลายละเอียดวิจิตรพิศดาร ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลงรักปิดทอง เรื่องพระพุทธประวัติและแผนผังจำลองของวัด เพดานเป็นไม้จำหลักโปร่งหลายชั้นประดับกระจกสีลวดลายของเพดานแต่ละช่องจะแตกต่างกันไป

พระอุโบสถวัดศรีชุม เป็นศิลปกรรมแบบพม่าที่มีความสวยงามมากที่สุดหลังหนึ่ง เป็นอุโบสถมณฑปจตุรมุขทรงพระยาธาตุ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2444 รอบ ๆ พระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทางเข้าพระอุโบสถทำเป็นซุ้มประตูก่อด้วยอิฐ หลังคาซ้อนกัน 7 ชั้นส่วนยอดประดับด้วยฉัตรทอง เชิงชายของหลังคาแต่ละชั้นตกแต่งด้วยลวดลายฉลุโลหะ ในส่วนของมุขทั้งสี่ก็ทำหลังคาซ้อนกัน 5 ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่าปางเสกผลไม้ เพดานประดับด้วยลวดลายเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจกสีลายอุบะ ซึ่งนับว่าเป็นศิลปกรรมชั้นเลิศแห่งหนึ่งในล้านนา

ด้านหลังของพระอุโบสถเป็นเจดีย์ทรงกลมศิลปะพม่า รอบคอระฆังมีลวดลายปูนปั้น เจดีย์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ.2449

วัดศรีชุม นับว่าเป็นแบบอย่างของวัดที่ชาวพม่าสร้างขึ้นได้อย่างสวยงามที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของพ่อค้าไม้ชาวพม่าที่เข้ามาค้าขายไม้สักอยู่ในดินแดนล้านนา หากต้องการจะชมความงามของศิลปกรรมพม่าที่สะท้อนรอยต่อของอดีตอันรุ่งเรืองแห่งพลังศรัทธาและการทำไม้แล้วละก็ แวะเข้ามาเที่ยวชมที่วัดศรีชุมในเมืองลำปาง เสมือนกับการได้ย้อนเข้าไปในอดีตนับร้อยปีก็ปานนั้น

 

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น